Search
Close this search box.
จับตาค่าฝุ่น PM2.5 สุ่มวัดควันดำรถยนต์ไซต์งาน BLOCK 33 ย่านปทุมวัน เดินหน้าจัดระเบียบผู้ค้าซอยร่วมฤดี ชมต้นแบบคัดแยกขยะจากต้นทางโรงแรม Centara Grand AT CentralWorld

 

(22 พ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตปทุมวัน ประกอบด้วย

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างพัฒนาพื้นที่หมอน 33  (BLOCK 33) เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน เจ้าของโครงการคือ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ประกอบด้วย PLOT A เป็นอาคารพักอาศัย มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น แบ่งออกเป็น 2 อาคาร TOWER A เป็นคอนโด ความสูง 50 ชั้น และดาดฟ้า 1 ชั้น TOWER B เป็นหอพัก ความสูง 43 ชั้น และดาดฟ้า 1 ชั้น PLOT B เป็นอาคารพาณิชย์ ความสูง 7 ชั้น และดาดฟ้า 1 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมกันนี้ เขตฯ ได้ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุก รถโม่ปูน รถรับ-ส่งคนงาน รถกระบะ ที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ โดยได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ เขตฯ จะสุ่มตรวจสังเกตจากสภาพรถยนต์และลักษณะของควันที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานประจำรถยนต์ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ควบคุมค่าควันดำไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

ติดตามความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยร่วมฤดี เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 21 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 421 ราย ประกอบด้วย 1.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 2.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 3.ใต้ทางด่วนเพลินจิต ผู้ค้า 10 ราย 4.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย 5.หน้าการไฟฟ้านครหลวง ผู้ค้า 11 ราย 6.หน้าอาคารมหาทุน ผู้ค้า 13 ราย 7.ซอยปลูกจิตต์ ผู้ค้า 24 ราย 8.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 9.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 10.ถนนพญาไท หน้าห้างสยามสเคป ผู้ค้า 9 ราย 11.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 9 ราย 12.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 13.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 14.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 15.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 16.จรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 17.ถนนพระรามที่ 6 จรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย 18.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย 19.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 20.ถนนรองเมือง พระราม 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 21.ถนนรองเมือง ริมรั้วรถไฟ ผู้ค้า 4 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกหรือยุบรวมผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้า จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1.ใต้ทางด่วนเพลินจิต ผู้ค้า 10 ราย 2.หน้าการไฟฟ้านครหลวง ผู้ค้า 11 ราย 3.หน้าอาคารมหาทุน ผู้ค้า 13 ราย 4.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย รวมถึงยกเลิกหรือยุบรวมผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้ารอประกาศจากกรุงเทพมหานคร บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกหรือยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย เน้นในจุดที่อยู่ติดกับถนนใหญ่ โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกันหรือจุดที่เขตฯ กำหนดไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ (Centara Grand AT CentralWorld) พื้นที่ 103,967.20 ตารางเมตร ประชากร 462 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2555 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกตั้งแต่ต้นทาง จุดตั้งถังรับจะติดป้ายแยกประเภทถังและขยะ กระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้พนักงานรับประทานอาหารให้หมด จุดทิ้งอยู่บริเวณห้องเก็บขยะแบบปรับอากาศ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกจากต้นทาง นำไปทิ้งรวมที่ห้องขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่ใช่กลุ่มที่ต้องคัดแยก จะทิ้งอยู่ในกลุ่มนี้ จัดแยกถังพร้อมป้ายบอกประเภทขยะ และคัดแยกครั้งสุดท้ายโดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลขยะรีไซเคิล 4.ขยะอันตราย ฝ่ายวิศวกรรมการเป็นผู้ดูแล ถังสารเคมีจะถูกส่งคืนให้กับผู้ขายสารเคมี โดยทางโรงแรมได้พาเยี่ยมชมแปลงผักปลอดสารพิษและการทำน้ำหมักชีวภาพบริเวณชั้นดาดฟ้า ห้องเก็บขยะแยกประเภทบริเวณชั้นใต้ดิน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 528,986 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 33,299 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 54,295 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 897 กิโลกรัม/วัน

ในการนี้มี นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตปทุมวัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200