(22 พ.ย.66) เวลา 10.30 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าวเทศกาล ลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ณ บริเวณสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีวิถีไทยและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีต่อสายน้ำ อันเป็นประเพณีไทยที่ดีงามซึ่งสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากอดีตถึงปัจจุบัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกล้วนมีเทศกาลสำคัญ ส่วนกรุงเทพฯ มี 2 เทศกาลสำคัญ คือ Winter Festival หรือเทศกาลลอยกระทง และ Water Festival หรือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งทั้ง 2 งาน กทม.ร่วมจัดงานกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่คนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกของทั้งสองเทศกาล คือ เรื่องของการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย และเรื่องของปัญหาความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาแนวคิด 3 ปลอด คือ 1.ปลอดจากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% 2.ปลอดจากประทัด โคมลอย พลุ 3.ปลอดอันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของความปลอดภัยจากโป๊ะและท่าเรือที่ไม่แข็งแรง ทางด้านรองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้มีการสั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ขอให้ประชาชนดูป้ายแจ้งเตือนห้ามใช้งานของโป๊ะและท่าเรือที่ไม่แข็งแรง ส่วนท่าเรือหรือโป๊ะที่สามารถใช้งานได้ จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจและสปภ. (สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) คอยอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย รวมถึงควบคุมคิวลำดับและจำนวนของผู้ลอยกระทงในแต่ละโป๊ะและท่าเรือเพื่อปลอดภัย โดยจะมีการดูแลเป็นพิเศษในจุดที่จัดงานใหญ่และคาดว่าจะมีประชาชนร่วมงานจำนวนมาก อาทิ สะพานพระราม 8 คลองโอ่งอ่าง การจัดงานของกระทรวงวัฒนธรรมที่วัดอรุณราชวรารามฯ และการจัดงานของรัฐบาลที่คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกที่จะขอเชิญชวนประชาชนลอยกระทงออนไลน์ ชมกระทงดิจิตอลกลางคลองโอ่งอ่าง โดยกรุงเทพมหานคร ได้รณรงค์แนวคิดการลอยกระทงในรูปแบบใหม่ เน้นการรักษ์โลกแบบใหม่ ชวนคนร่วมลอยกระทงแบบดิจิตอล โดยเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ และชมกระทงแบบดิจิตอลบนพื้นผิวน้ำคลองโอ่งอ่าง ผ่านโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ พร้อมกิจกรรมการแสดง Street Performance และ ชิมอาหารย้อนยุค บริเวณเชิงสะพานบพิตรภิมุข คลองโอ่งอ่าง โดยผู้ที่มาร่วมงานไม่ต้องนำกระทงมาเอง เพียงแต่อาจจะต้องนำโทรศัพท์มือถือติดตัวมาด้วยเพื่อร่วมลอยกระทงออนไลน์ จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ทราบโดยทั่วกันว่าปีนี้มีการเลือกลอยกระทงที่หลากหลาย บางท่านอาจจะลอยกระทงอยู่ที่บ้านได้ผ่านระบบออนไลน์ หรือเลือกที่จะลอยปัญหาที่ต้องการแก้ไขมาให้กทม. ช่วยดูแลได้ผ่านระบบ Traffy Fondue
ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดงานประเพณีลอยกระทง โดยกำหนดจัดงาน 2 พื้นที่ หลัก ได้แก่ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร รวมทั้งจะเปิดพื้นที่สวนสาธารณะ 34 แห่ง ให้ลอยกระทงได้ภายใต้มาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนสูงสุด โดยตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมปริมาณคนในแต่ละพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นเกินไป มีการตั้งจุดเข้า-ออกชัดเจน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เช่น กองบังคับการตำรวจ น้ำ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาตำรวจท่องเที่ยว สน.ท้องที่ หน่วยงานความมั่นคง เจ้าท่า อาสาสมัครมูลนิธิ และภาคเครือข่ายต่างๆ เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัย ตลอดจนการควบคุมการจำหน่ายและการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า รวมทั้งให้ประชาชนใช้วัสดุธรรมชาติในการทำกระทง เพื่อลดปริมาณขยะและช่วยกัน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด 3 ปลอด คือ 1.ปลอดจากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% 2. ปลอดจากประทัด โคมลอย พลุ 3. ปลอดอันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
การจัดงานที่สะพานพระราม 8 ภายในงานมีการจำลองบรรยากาศตลาดโบราณย้อนยุค การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ของดี 50 เขต ร้านค้าชุมชน ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหารพื้นบ้าน จำนวนกว่า 70 ร้านค้า และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิ การแสดง แสง สี เสียง เกี่ยวกับเทศกาลประเพณีลอยกระทง การแสดงพื้นบ้าน การแสดงลำตัด และเพลงเรือ การแสดงจากศิลปินชื่อดัง ไผ่ พงศธร มีการจัดจุดถ่ายภาพเช็คอินและแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Check & Share) เป็นแลนด์มาร์คสำคัญในการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณสะพานพระราม 8
• รณรงค์ลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง ร่วมลดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม
กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชนใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติและงดใช้โฟม เป็นการส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย หรือกระทั่ง ขนมปัง ลดภาระการคัดแยกในเทศกาลลอยกระทงปีนี้
• เปิด 34 สวนสาธารณะให้ประชาชนร่วมลอยกระทง และพื้นที่อื่น ๆ
กรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชนและเอกชน จัดงานเทศกาลลอยกระทงใน พื้นที่ 50 เขต และเปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 34 แห่ง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปลอยกระทง โดยเปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 05.00 – 24.00 น. รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและสำนักงานเขต การเปิดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ มีโอกาสลอยกระทงในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สวนสาธารณะ ท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าน้ำริมคลอง ท่าน้ำของวัดต่าง ๆ และบึงสาธารณะทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลในเรื่องความปลอดภัยของโป๊ะ ท่าเทียบเรือ การเฝ้าระวังการเล่นประทัดดอกไม้ไฟในทุกพื้นที่การจัดงานตลอดทั้งคืน ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้ง ขอความช่วยเหลือได้ทางโทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 199 และ 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง
การแถลงข่าววันนี้มีนายณัฐ ครุฑสูตร ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายสุรพล เศวตเศรนี ประธานการจัดงาน Bangkok River Festival 2023 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด นายจิรวิทย์ ขันตยานุวงศ์ General Manager Asiatique the Riverfront Destination ร่วมการแถลงข่าว โดยมีนายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พันตำรวจเอก สิทธิเมศวริย์ ศิวคุปต์ ศรีครุฑรานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 พันตำรวจเอก ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ รองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
#ลอยกระทงออนไลน์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
#Colorfulbangkok2023
#Thailandwinterfestival
#สังคมดี #เศรษฐกิจดี