กทม.ลุยทุกทาง ปม(น้ำหนัก)รถบรรทุก ‘ให้โลกรู้เราเอาจริง’

ศศวัชร์ คมนียวนิช

ชญานินทร์ ภูษาทอง

คันเดียววุ่นทั้งประเทศของแท้

สำหรับกรณีรถบรรทุกดินตกหลุมระหว่างซอยสุขุมวิท 64/1 และ 64/2 หลังแผ่นพื้นบ่อพักท่อร้อยสายไฟของ การไฟฟ้านครหลวงทรุดกระดกไม่เป็นท่า ก่อนที่ต่อมาจะทราบสาเหตุชัดเจนว่ามาจาก ‘น้ำหนักเกิน’

สราวุธ อนันต์ชล ส.ก.เขตพระโขนง พรรคก้าวไกล เผยข้อมูลว่า กรมทางหลวงชั่งรถบรรทุกคันดังกล่าวได้ 37,450 กิโลกรัม หรือ 37.450 ตัน เกินที่กำหนดไว้ประมาณ 12.4 ตัน โดยชั่งเพลาคู่หน้าได้ 5,100 กิโลกรัม, คู่กลางได้ 16,350 กิโลกรัม และคู่หลังได้ 15,950 กิโลกรัม

แน่นอนว่าความว้าวุ่นไม่ได้มาจากแค่การฝ่าฝืนบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด หากแต่สติ๊กเกอร์ปริศนารูปตัวบี ที่ต่อมาได้รับการคอนเฟิร์มว่าเป็น ‘สติ๊กเกอร์ส่วย’ ของจริง ก็ยิ่งส่งผลให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่อาจอยู่นิ่ง

กรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ไม่มีอำนาจหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ด้วยความเป็นเจ้าของพื้นที่ก็แอ๊กชั่นทันควัน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ควง วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่ทันที ทั้งยังแวะเวียนไปยังจุดเกิดเหตุอีก หลายครั้ง พยายามประสานความร่วมมือสิบทิศ โดยเฉพาะกรมทางหลวง

อาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชัชชาติยังทำเซอร์ไพรส์ ดักซุ่มโดดสุ่มตรวจรถบรรทุกฝั่งธนฯ โดยอุบพิกัด ประกาศลั่นกลางไลฟ์ ‘วันนี้ให้โลกรู้ เราเอาจริง’

หากไม่จำเป็น หรือรถคันไหนไม่เข้าข่ายก็ไม่ต้องชั่ง เสียเวลาเขาทำมาหากิน โดยไม่อยากให้จับใคร อยากจะให้รถ ทุกคันอยู่ในน้ำหนักที่ดี กทม.เอาจริงเรื่องการชั่งน้ำหนักเกิน อยากให้ผู้รับเหมานั้นให้ความร่วมมือกับทาง กทม.ด้วย

ในวันอาทิตย์รถบรรทุกสามารถวิ่งได้ แต่การก่อสร้างในวันอาทิตย์นั้นจะไม่ได้ทำ โดยเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการจับรถบรรทุกเกิน จึงต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง

“การทำงานเราทำงานอย่างโปร่งใส ในอนาคตก็จะมีแผนจัดซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักของกรุงเทพมหานครมาใช้เอง ทางกรุงเทพมหานครเองพร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนในการทำงาน อยากให้ทุกคนช่วยดูแลถนน และดูแลความปลอดภัย อยากให้ทำไปเรื่อยๆ ทุกวันฝึกงานกันไปก่อน” ชัชชาติกล่าวกลางอุณหภูมิร้อนของบ่ายวันอาทิตย์

จัดหน่วย ‘เฉพาะกิจ’

เอาจริง รถบรรทุก ‘น้ำหนักเกิน’

ย้อนไปเมื่อ 11 พฤศจิกายน 3 วันหลังเกิดเหตุ ผู้ว่าฯชัชชาติให้สัมภาษณ์ขณะสัญจร ณ สำนักงานเขตคันนายาว ถึงกรณีดังกล่าว ยืนยัน ‘เอาจริง’ โดยขอให้กรมทางหลวงช่วย ‘เทรน’ เจ้าหน้าที่ กทม.ในการใช้เครื่องวัด ประสานกรมการขนส่งทางบกหนุนติดจีพีเอส รถบรรทุกทุกคัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังพร้อมจัดซื้อเครื่องชั่ง กล้องวิดีโอติดตัว เพราะ ‘ไม่อยากให้เป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใสในอนาคต’

ชัชชาติเผยว่า ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินส่วนใหญ่มาจากการ ขนดิน ที่มีการขุดทำฐานรากตามไซต์ก่อสร้าง โดยในช่วง 1 เดือน กทม.ได้ขอให้กรมทางหลวงมาช่วยเทรนเจ้าหน้าที่ กทม.ในการใช้เครื่องวัด การส่งตัวผู้กระทำความผิดดำเนินคดี เพราะเป็นคดีอาญา โดยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) มากำกับด้วย ในการบันทึกวิดีโอตลอดการจับกุมจนกระทั่งนำตัวไปส่งที่สถานีตำรวจ

“เราเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ โดยจัดหน่วยเฉพาะกิจที่มี พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. เป็นหัวหน้าช่วยดูแล ต้องมีการซื้อเครื่องชั่ง กล้องวิดีโอติดตัว เครื่องแบบ เราไม่อยากให้เป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใสในอนาคต ถ้าทำไม่รอบคอบ ก็อาจจะมีสติ๊กเกอร์อีกใบติดหน้ารถผ่านเฉพาะ กทม.” ชัชชาติกล่าว พร้อมย้ำประเด็นความโปร่งใสว่าได้มอบหมายให้รองปลัด กทม.มากำกับดูแล

“ด้านตำรวจก็จะหาทางดำเนินคดีกับเจ้าของรถ เพราะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด ถ้าทำได้แบบนี้จะทำให้คนเกรงกลัวกฎหมายมากขึ้น ถ้าเกิดเอาผิดเฉพาะผู้ขับซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างหาเช้ากินค่ำ ไม่รู้น้ำหนักในการบรรทุก คนจะกลัวว่าเป็นไฟไหม้ฟางหรือเปล่า

ยืนยันว่าเราทำต่อเนื่อง จะมีการพัฒนาหน่วยตรวจจับนี้เพื่อความปลอดภัย โดยรถหนักมีปัญหาโครงสร้าง ส่วนใหญ่ที่รถสิบล้อเบรกแตกส่วนหนึ่งมาจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน เบรกไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้

รวมถึงประสานกับกรมการขนส่งทางบก นำข้อมูลจีพีเอสที่ติดกับรถบรรทุกทุกคัน เพื่อติดตามว่ารถคันไหนวิ่งนอกเวลาบ้าง จะได้ติดตามให้ง่ายขึ้น” ผู้ว่าฯกทม.เผยในวันนั้น นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ ชัชชาติประกาศพร้อมตรวจสอบ 317 ไซต์งานขนาดใหญ่ ทั้งยังเผยว่ารถบรรทุกคันเกิดเหตุเคยบรรทุกน้ำหนัก ถึง 61 ตัน เกินมาตรฐานของรถสิบล้อขนาด 3 เพลาตามกฎที่ต้อง ไม่เกิน 25 ตันมากถึง 36 ตัน ยืนยันต้องจัดการคนเห็นแก่ตัว ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หารือด่วน และฝากตำรวจช่วยคุมเข้ม

“เบื้องต้นมาตรการความปลอดภัยของ กทม. คือการควบคุม น้ำหนักรถบรรทุก กับมาตรฐานการก่อสร้าง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อยู่ระหว่างการทำฐานราก, การก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การก่อสร้างท่อระบายน้ำ Pipe Jacking ของสำนักการระบายน้ำ โดยช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการนัดแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยถึงมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะตัวปิดฝาบ่อซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราว และความเรียบของ ฝาบ่อ” ชัชชาติกล่าว

น้ำหนัก ‘เรื่องซับซ้อน’ จ้างจุฬาฯศึกษาเล็งซื้อเครื่องชั่งติด ‘สะพาน’

ส่วนประเด็นเรื่อง ‘น้ำหนัก’ ผู้ว่าฯกทม.เอ่ยจากปากว่า ‘มีความซับซ้อนพอสมควร’ โดย กทม.ต้องร่วมกับตำรวจ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น โดย กทม.ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งต้องกำหนดน้ำหนักเหมือนกับ อปท.อื่นๆ เพราะรถไม่ได้วิ่งภายในกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว โดยที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรทุกมีการวิ่งไปในจังหวัดอื่นๆ ที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีด่านชั่งน้ำหนัก

“การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นคดีอาญา โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อจับกุมแล้วต้องส่งให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินคดี การดำเนินการต่อไปต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจ และกรมทางหลวงไม่รอชั่งน้ำหนักบนถนน แต่จะชั่งที่ต้นทางที่ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้ง 317 แห่ง ที่มีการขุดดินเหนียว ซึ่งได้ยืมเครื่องชั่งจากกรมทางหลวงมา 1 ตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการวัดน้ำหนักบรรทุก ผ่านสะพานข้ามแยกต่างๆ โดยวิธี Bridge Weigh in Motion ที่หลายประเทศมีการใช้งานจริง รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน ใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ โดยผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จในอีก 2 เดือน แล้วจะนำงบกลางของ กทม.จัดซื้อเครื่องชั่งติดตั้งตามสะพานในจุดต่างๆ” ชัชชาติเผย

มั่นใจ (ส่วย) สติ๊กเกอร์ ไม่เกี่ยวสำนักงานเขต

ส่วนประเด็นน้ำหนักที่รองรับฝาบ่อได้ต้องทำไว้เกินน้ำหนักที่กฎกำหนดไว้ รวมถึง กทม.จะเพิ่มเงื่อนไขออกใบอนุญาตการก่อสร้าง ถ้าไซต์ก่อสร้างใดมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว พร้อมกับเสนอรัฐบาลปรับกฎหมายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยให้เจ้าของรถบรรทุก หรือผู้ว่าจ้างมีความผิดด้วย ซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยให้ผู้รับเหมาต่างๆ ตรวจสอบความแข็งแรงของฝาบ่อ อย่าง กฟน.มี 879 บ่อ ถ้ามีปัญหาไม่ต้องให้รถผ่านก่อน รวมถึงสั่งการให้ทุกเขตตรวจสอบไซต์ก่อสร้างที่ดูแล้วว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยนำเครื่องชั่งของ ทล.ไปชั่งที่ไซต์ก่อสร้างเลย” ชัชชาติกล่าว

สำหรับเรื่องสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถนั้น ชัชชาติย้ำว่าเป็นอำนาจการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจาก กทม.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้แค่ตรวจว่ามีผ้าคลุม หรือดินตกหล่นหรือไม่ ส่วนกรณีที่โซเชียลสงสัยว่าสำนักงานเขตต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักและจับกุม

“ทางเจ้าของธุรกิจ ถ้าทำผิดกฎหมายเราจะจัดการทุกมาตรการอย่างเด็ดขาด ถือว่าเอาเปรียบประชาชน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจทำตามกฎหมาย ปัญหาน่าจะบรรเทาลงไปเยอะ แต่เป็นเรื่องของคนเห็นแก่ตัว ที่แบกน้ำหนักเกิน เอาเปรียบใช้ทรัพยากรของคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม” ชัชชาติทิ้งท้ายแซ่บ

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200