(10 พ.ย. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานการนำเสนอผลการดำเนินงาน การขยายผล ต่อยอด การจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีหลังจากการใช้งานขยะไม่ติดเชื้อ
สู่วัสดุรีไซเคิล ภายใต้แนวคิด ลดมลพิษ ลดโลกร้อน สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ สำนักการแพทย์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล (ASEAN Vinyl Council หรือ AVC) และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พีวีซี (บริษัท นครหลวงอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษและเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น ภายใต้หลัก 3 R (Reuse Reduce และ Recycle ) ที่สามารถทำได้ง่ายและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ให้ประโยชน์หลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องรีไซเคิลอย่างเดียว แต่เป็นการพูดถึงการทำให้สิ่งที่เคยไม่มีคุณค่าหรือเป็นขยะกลับมาทำให้มีประโยชน์ได้ นอกจากทำให้ปริมาณขยะลดลง ยังช่วยในเรื่องของสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันช่วยเรื่องของการต่อยอดไปยังการส่งเสริมรายได้ รวมถึงการตระหนักในเรื่องการจัดการขยะในบ้านอย่างรอบคอบขึ้น โดยเฉพาะขยะติดเชื้อ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันทำโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งกระบวนการในการผลิตมีการคัดแยกขยะหรือฆ่าเชื้ออย่างดีเพื่อให้มั่นใจในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นมามีความสะอาดและใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครต่อไป
ทั้งนี้ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล จะให้การสนับสนุนความรู้ แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีหลังจากการใช้งาน (ขยะไม่ติดเชื้อ) ให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ หน่วยงานสาธารณสุขในสังกัดอื่น ๆ ผ่านกระบวนการคัดแยก การจัดเก็บ การทำให้ปลอดเชื้อ การรวบรวมและจัดส่ง รวมทั้งการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และกรุงเทพมหานคร โดยโรงพยาบาลเวชกรุณย์รัศมิ์ จะให้การสนับสนุนทรัพยากร รวมทั้งส่งเสริมการจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ หลังการใช้งาน (ขยะไม่ติดเชื้อ) ของกลุ่มเป้าหมายภายในองค์กร ผ่านกระบวนการคัดแยกการจัดเก็บ การทำให้ปลอดเชื้อ การรวบรวมและจัดส่ง ตลอดจนรวบรวมและรายงานผลสถิติการจัดการ ในระบบการบันทึกข้อมูลที่จัดเตรียมไว้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยเริ่มทดลองดำเนินการนำร่องที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศต่อไป
สำหรับวันนี้มี ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร (คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นายไพศาล หล่อพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการทั่วไป ผู้แทนจาก สมาคมอาเซียน ไวนิลเคาน์ซิล ตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น ๆ และโรงพยาบาลในเครือสำนักการแพทย์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธีเปิดงาน ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
————————– (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)