(10 พ.ย. 66) นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร “เปิดโลกขยะ กทม.” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การจัดการเป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 (ห้องเธียร์เตอร์) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นรูปแบบการเสวนาและเปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การพัฒนาระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครปลอดภัย-ปลอดมลพิษ” สอดคล้องตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556 – 2575
โดยประเด็นการเสวนามี 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.สถานการณ์การจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร โดย นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอยรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม 2. การพัฒนาระบบกำจัดขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร โดย นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ 3.มุมมองใหม่การจัดการขยะกรุงเทพมหานคร โดย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากนั้นปิดการเสวนาโดยนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ “เปิดโลกขยะ กทม.” ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ตั้งแต่การรวบรวม การเก็บขน และการกำจัดมูลฝอย และนำเสนอนโยบายและแผนการจัดการมูลฝอยในอนาคตของกรุงเทพมหานคร รวมถึงรับฟังความคิดเห็นขององค์กร หน่วยงาน ผู้ประกอบการ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ นักวิชาการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการมูลฝอยให้สอดคล้องตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการบริหารจัดการมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) และมีการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) รวมถึงทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบกำจัดมูลฝอยที่ใช้อยู่ในขณะนี้ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการนำมูลฝอยของกรุงเทพมหานครไปฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล
การประชุมในวันนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักอนามัย สำนักการโยธา สำนักการศึกษา ผู้แทนกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต และผู้แทนหน่วยงาน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม