สิบล้อตกท่อกทม.บาน ก.ก.ปูดส่วย’สติ๊กเกอร์’

บรรทุกเกินวิ่งกรุงฉลุย บิ๊กต่อฮึ่มฟันตร.เอี่ยว บช.น.ตั้งกก.สอบด่วน

เหตุรถสิบล้อตกท่อกลางกรุงบาน ก.ก.แฉโยงส่วยสติ๊กเกอร์เสี่ยบิ๊ก ‘เศรษฐา’สั่งแก้ส่วยรถบรรทุก ชี้ปัญหาหมักหมมมานานแล้ว บช.น.สั่งโรงพักพระโขนงชี้แจงสติ๊กเกอร์ตัวบีใน 3 วัน

เศรษฐาสั่งแก้ส่วยรถบรรทุก

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์ ล่าสุดเกิดเหตุรถ 10 ล้อ บรรทุกดินขับผ่านฝาท่อสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง บนถนนสุขุมวิท หน้าซอยสุขุมวิท 64/1 ทำให้ฝาท่อทรุดตัวและส่วนท้ายรถบรรทุกตกลงไปในหลุม จอดคาอยู่กลางท่อ พบว่าหน้ารถบรรทุกมีสติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียว มีตัวอักษร B อยู่ตรงกลาง คล้ายสัญลักษณ์การจ่ายส่วย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่ามีการตั้งข้อสังเกตหลังพบสติ๊กเกอร์ที่อาจเป็นสัญลักษณ์ของการจ่ายส่วยแปะอยู่ที่กระจกหน้ารถ ได้รับทราบปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินก็ต้องประสานกับกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร รวมถึงฝ่ายของกรมทางหลวงด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ฟาง พอเกิดเรื่องขึ้นมาก็ค่อยแก้ไขปัญหาและพอลืมกันไปก็มีปัญหาเรื่องทุจริต แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เพียงอย่างเดียว เราเองให้ความสำคัญกับทุกปัญหาและจะแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ

“อย่างที่ผมบอก ไม่อยากให้เกิด พอมีปัญหาก็มาแก้ แก้แล้วก็ลืม ก็พยายามตอกย้ำไปตลอดเวลา” นายเศรษฐากล่าว

‘วิโรจน์’ตลกปมผกก.พระโขนง

ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก ว่าเป็นประเด็นที่ยืนยันว่าไม่ใช่แค่การบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่เป็นโครงการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำลังจะนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน 700 บ่อทั่ว กทม. เข้าใจว่าวิศวกรของ กฟน.คงไม่ได้ออกแบบแผ่นปูนรองรับรถบรรทุกน้ำหนักกว่า 30 ตัน ที่อยู่ในสภาวะสั่นสะเทือนจากการวิ่งด้วย ดังนั้น เรื่องนี้กระทบถึงผู้ที่ใช้ยานพาหนะบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก หากเราติดตามเรื่องถนนทรุดตัวใน กทม. เราก็จะเห็นข่าวลักษณะนี้อยู่เป็นระยะๆ

เมื่อถามว่า มีการชี้แจงว่าส่วยสติ๊กเกอร์เป็นสัญลักษณ์ของบริษัทรับเหมา นายวิโรจน์กล่าวว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับ สน.พระโขนง บอกว่า เจ้าของรถบอกว่าเป็นสติ๊กเกอร์ที่ติดไว้เพื่อให้คนขับรถแยกรถออกว่าจอดรถไว้ตรงไหน โดยปกติคนขับรถจำรถได้อยู่แล้ว หากจะออกแบบสติ๊กเกอร์เช่นนั้นมองว่าออกแบบเป็นสติ๊กเกอร์คาดหน้ารถรูปโลโก้บริษัทตนเองยังมีประโยชน์มากกว่า เพราะการติดสติ๊กเกอร์ในลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้คนขับมองเห็น แต่เอาไว้ให้ใครสักคนที่เตี๊ยมเอาไว้มองเห็นมากกว่า ต้องตั้งคำถามกับผู้กำกับ สน.พระโขนง และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.5) ว่าคนที่เตี๊ยมเอาไว้ให้มองเห็นเป็นข้าราชการตำรวจหรือไม่ ถ้าเป็น เป็นระดับไหน รวมถึงมีการจ่ายส่วยด้วยหรือไม่

ถามกลับ’เสี่ยบิ๊ก’คือใคร

“เรื่องนี้ควรต้องมีการสอบถาม หากติดสติ๊กเกอร์เพื่อให้มองเห็นรถ จำรถตนเองได้ง่าย ผมมองว่าตลกมาก เป็นเรื่องที่ประชาชนก็รับ ไม่ได้ รู้อยู่แก่ใจ รู้อยู่แก่อก ขึ้นอยู่ที่จะสอบหรือไม่สอบเท่านั้น” นายวิโรจน์กล่าว

เมื่อถามว่า มีการมองว่าสติ๊กเกอร์ดังกล่าวเป็นชื่อของเจ้าของรถ นายวิโรจน์กล่าวว่า ก็เป็นชื่อเจ้าของอยู่แล้ว ตัว B บางคนก็บอกว่าย่อมาจากเสี่ยบิ๊ก แต่ที่ต้องตั้งคำถามคือเสี่ยบิ๊กคือใคร มีการโยงใยไปถึงการเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่ มองว่ามีการตัดตอนคำตอบเร็วเกินไป ทำให้มองเป็นอย่างอื่นลำบาก

เมื่อถามว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ กทม.และตำรวจเองดูมีความเกรงใจผู้รับเหมามากจนเกินไป นายวิโรจน์กล่าวว่า เข้าใจว่ามีการบ่ายเบี่ยงที่จะไม่ยอมชั่งน้ำหนัก ทั้งตัวรถและดินที่ขน ถ้าเป็นตำรวจระดับผู้กำกับและ ผบช.น.5 ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงรักษาพยานวัตถุและของกลางสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ถ้ายังขาดศักยภาพที่จะทำในเรื่องดังกล่าว คิดว่า ผบ.ตร.ควรพิจารณาว่าต้องหาคนที่เหมาะสมกว่านี้มาทำงานแทนหรือไม่

“คุณปล่อยให้เขานำดินไปเทที่ไซต์งานได้อย่างไร ผมเข้าใจว่าต้องการกู้ตัวรถ แต่มันคือของกลาง การขนออกไปต้องเอามาเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น ข้ออ้างที่ติดสติ๊กเกอร์เพื่อให้จำรถได้ก็ฟังไม่ขึ้นอยู่ดี ตำรวจทิ้งประเด็นนี้ไม่ได้” นายวิโรจน์กล่าว

ซัดตร.ไม่เรียนรู้บทเรียนเดิม

ส่วนการดำเนินการจะเกี่ยวข้องกับตำรวจยศใหญ่หรือไม่นั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า ต้องสอบถามก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก เพราะมีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโยงใยมาถึงส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก เป็นเรื่องใหญ่มาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าตำรวจไม่เรียนรู้บทเรียนเลย ถ้ายังมีเรื่องส่วยอยู่ก็ถือว่าไม่รักศักดิ์ศรีตำรวจจริงๆ ควรสอบให้สิ้นข้อสงสัย ยังกล่าวหาใครในตอนนี้ไม่ได้ รวมถึงต้องเอาผิดกับตำรวจที่เปิดกรวยให้นำดินไปทิ้งในไซต์งาน

เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ เนื่องจากดินที่ขนมาเข้ามาในบริเวณเขต กทม.อาจจะมีการเรียกรับผลประโยชน์ นายวิโรจน์กล่าวว่า เมื่อเช้านี้ผู้กำกับ สน.พระโขนง บอกว่ายังไม่มีการจับกุมเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินใดๆ แต่ประชาชนก็เห็นรถบรรทุกลักษณะนี้คลุมผ้าใบเข้ามาในพื้นที่ กทม.ก่อนเวลา หรือในเวลากลางคืนก็ยังมีให้เห็น เข้าใจว่ามีการเร่งรัดการก่อสร้างหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่กฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่พักอาศัยก็มีความสำคัญ ในเมื่อมีเวลาจำกัดก็ต้องกำชับ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการนำรถบรรทุกน้ำหนักเกินเข้ามาบนถนนใน กทม.ที่มีลักษณะเป็นหลุมของโครงการเอาสายไฟฟ้าลง ซึ่งพร้อมที่จะทรุดตัวได้ตลอดเวลา เราไม่รู้สึกเลยเหรอว่ามันเกิดถี่เกินไปแล้ว

“ผมตั้งคำถามว่าหลุมลึกขนาดไหน ทุกท่านคงคะเนได้อยู่แล้ว ถ้าตกลงไปถึงตายแน่นอน รวมถึงเมื่อวานนี้ก็มีเรื่องที่น่าเสียใจที่คนขับแท็กซี่ที่ขับมาดีๆ ถูกกฎจราจร ชนกับแผ่นคอนกรีตที่กระดกขึ้นมาจากรถบรรทุกที่น้ำหนักเกิน คำถามคือใครจะรับผิดชอบ ซึ่งตนเรียกร้องให้ กฟน.รับผิดชอบก่อน และหากรถบรรทุกมีน้ำหนักเกินจริงก็ต้องไปไล่บี้ อย่าปล่อยให้รถแท็กซี่ที่ไม่รู้เรื่องต้องไปฟ้องเอาเอง” นายวิโรจน์กล่าว

ย้ำต้องมีการปฏิรูปตำรวจ

เมื่อถามว่า เท่าที่ทำการเปิดโปงเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจัดอยู่ในรายชื่อไหน นายวิโรจน์กล่าวว่า อย่าไปจำลักษณะของสติ๊กเกอร์เลย ทั้งหมดทั้งมวลมีสัญลักษณ์ทั้งนั้น บางทีก็เป็นเรื่องของการเคลียร์ชั่วคราว รวมถึงเคลียร์เป็นรายเดือน ตนมองว่าสัญลักษณ์ไม่สำคัญเพราะคนทำส่วยรายเดียวก็ทำสติ๊กเกอร์ออกมาหลายแบบ

ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว นายวิโรจน์กล่าวว่า ผลประโยชน์มันเยอะ และเป็นภัยต่อสาธารณะ เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ อันที่จริงไม่ใช่เพียงเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปตำรวจ

“แต่พอเราพูดถึงคำว่าปฏิรูปตำรวจทีไร ท่านนายกฯก็บอกว่าให้แก้ไปทีละเรื่อง อย่าใช้คำว่าปฏิรูปเลย เรียกว่าแก้ทีละเรื่องดีกว่า คำว่าสังคายนาก็พูดไม่ได้ ผมจึงต้องส่งสารไปถึงนายกฯด้วยความหวังดีว่า การที่จะรักษาโรคอะไรจุดเริ่มต้นต้องยอมรับก่อนว่าเราป่วยจริงๆ และต้องหาหมอให้ถูกโรค ไปหาหมอเฉพาะทางซะ” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า ณ วันนี้ไม่ใช่เรื่องน้ำหนักเกิน แต่เป็นปัญหาที่แวดวงตำรวจถูกตั้งข้อสงสัยและขาดความไว้เนื้อเชื่อใจจากภาคประชาชน สุดท้ายก็จะส่งผลต่อความปลอดภัยต่อสาธารณะ หากรถมอเตอร์ไซค์ตกลงไปจะทำอย่างไร

ผบ.ตร.ยันฟันไม่เลี้ยง

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก กองบัญชาการตำรวจนครบาลที่กำกับดูแลรับผิดชอบตรวจสอบประเด็นดังกล่าวแล้ว การ กล่าวหาว่าเป็นส่วยสติ๊กเกอร์ที่สังคมเรียกกันนั้นควรจะมีหลักฐาน หากกล่าวหาโดยเลื่อนลอยแม้จะเป็นการตั้งข้อสังเกตของสังคม แต่ก็ทำให้องค์กรตำรวจหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเสื่อมเสียชื่อเสียง และทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ยืนยันว่าหากตรวจสอบพบว่าเป็นส่วยสติ๊กเกอร์เรียกรับผลประโยชน์ของตำรวจจริง ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทั้งทางอาญาและทางวินัยอย่างเด็ดขาด ไม่เอาไว้ ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่ได้มีการสั่งการประเด็นใดเป็นพิเศษ ยืนยันที่ผ่านมาเน้นย้ำข้าราชการตำรวจมาโดยตลอดว่าจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

โชเฟอร์รถบรรทุกขึ้นโรงพัก

เวลา 10.00 น. นายศักดิ์มงคล ทาสะโก หรือบอย คนขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง เพื่อให้ปากคำกรณีที่ขับรถบรรทุกดินตกบ่อร้อยสายไฟฟ้า ที่ถนนสุขุมวิท 64/1 ผู้สื่อข่าวพยายามเข้าไปสอบถามว่า รถที่บรรทุกดินออกมาได้มีการชั่งน้ำหนักมาก่อนหรือไม่ แต่นายบอยปฏิเสธไม่ตอบคำถาม และพยายามรีบเดินหลบกลุ่มผู้สื่อข่าวออกไป ก่อนตะโกนบอกสื่อมวลชนว่าไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ อีกแล้ว และรีบเดินขึ้นบนชั้นที่ 2 ของ สน.ไปทันที

ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เดินทางมาร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมสอบปากคำคนขับรถบรรทุก และติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับส่วยรถบรรทุก

บิ๊กโจ๊กแจ้งข้อหาคนขับรถบรรทุก

เวลา 13.00 น. ที่ สน.พระโขนง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยหลังการประชุมเหตุรถบรรทุกทำถนนทรุดและส่วยสติ๊กเกอร์ว่า วันนี้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับคนขับรถ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ส่วนเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะแจ้งข้อกล่าวหาแน่นอน แต่จะต้องชั่งน้ำหนักก่อน เครื่องตาชั่งจะมาถึง สน.พระโขนง ในเวลา 14.00 น. ขณะเดียวกันยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในเรื่องของการตักดินออกไป ส่อเป็นการทำลายหลักฐาน เพราะล่าสุดได้นำดินกลับมาไว้ยังรถบรรทุกคันเกิดเหตุแล้ว

“ส่วนสาเหตุที่ต้องตักดินออกไป เนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินไปทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายรถบรรทุกได้ เชื่อว่าน้ำหนักของรถบรรทุกนั้นเกินแน่นอน เพียงแต่ว่าเกินไปเท่าไหร่ ส่วนสภาพดินที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วอาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้นั้น หากชั่งแล้วเกิน 25 ตัน ถือว่ามีความผิด” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

ลั่นรถบรรทุกเข้ากทม.ต้องชั่งทุกคัน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังเปิดเผยว่า การเดินทางมาที่ สน.พระโขนง ติดตามความคืบหน้า มาดูสำนวนการสอบสวนคดีนี้ โดยจะทำเป็นคดีตัวอย่างว่าถ้ารถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง ตัวรถก็จะถูกศาลยึดไว้ ไม่สามารถเอาไปใช้ประกอบอาชีพได้ และจะต้องไล่ดูไปถึงตัวเจ้าของรถว่าเป็นใคร รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ถ้ารู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย ซึ่งตามกฎหมาย รถลักษณะเดียวกันกับคันที่เกิดเหตุต้องบรรทุกไม่เกิน 25 ตัน แต่กรณีที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่าบรรทุกเกิน จนทำให้ถนนทรุดตัวลงไป ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการมาตักดินออกและนำกลับไปเทที่ไซต์งานโดยที่ยังไม่ได้ชั่งนั้น ก็ต้องดูว่ารู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าบรรทุกเกิน แล้วรู้เห็นเป็นใจจะมาตักออก ถ้ารู้ก็มีความผิด ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย

“ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือรถบรรทุกน้ำหนักเกิน กับวิ่งนอกเหนือจากเวลาที่กฎหมายกำหนด ได้สั่งการให้ตรวจสอบทั้งหมด เริ่มทันทีตั้งแต่วันนี้ ทุกเขตทั่ว กทม. รถบรรทุกที่จะวิ่งเข้าพื้นที่ กทม.ต้องผ่านการชั่งน้ำหนัก และรถบรรทุกที่วิ่งในพื้นที่ กทม.เองก็จะต้องถูกชั่งน้ำหนักทันทีที่ขับออกจากไซต์งานก่อสร้างด้วย ปัญหาคือโรงพักในพื้นที่นครบาลไม่ได้มีตาชั่งเหมือนกับโรงพักต่างจังหวัด จึงได้ประสานกับกรมทางหลวงให้นำตาชั่งออกมาช่วยดำเนินการร่วมกันกับตำรวจ ต้องวางแผนการทำงานร่วมกัน และจะเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาพูดคุยว่าการบรรทุกน้ำหนักต้องไม่เกิน” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว และว่า ได้ตรวจสอบสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินใน กทม.ย้อนหลังไป พบว่าไม่มีการจับกุมเลย จับเพียงแค่สิ่งของตกหล่นเท่านั้น

รองผบก.น.5สั่งแจงใน3วัน

ที่ สน.พระโขนง พ.ต.อ.ภพธร จิตต์หมั่น รอง ผบก.น.5 ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีรถบรรทุกตกถนนบริเวณพื้นที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 ให้สัมภาษณ์เรื่องขั้นตอนการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกว่า ตราชั่งมีความพร้อมตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว หลังประสานให้นำมาเตรียมที่จะชั่งน้ำหนักรถบรรทุก มีการตักดินที่รถบรรทุกคันดังกล่าวกลับไปเทคืนบริเวณไซต์งาน กลับมาทั้งหมดแล้ว ขอยืนยันต่อสังคมว่า ไม่ต้องกังวลเพราะตอนนี้ดินทั้งหมดถูกนำมาเทกลับในรถบรรทุก ได้นำผ้าใบคลุมเพื่อรอการชั่งน้ำหนักแล้ว และตามที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ยืนยันเรื่องของน้ำหนัก จากการประเมินยืนยันได้ว่าน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนดอย่างแน่นอน แต่หากไม่เกินตามที่สังคมมีการตั้งคำถามตำรวจก็ยืนยันที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวน และดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตักดินออกไป ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องของเพลาล้อหลังรถบรรทุกที่ยังชำรุด ตามกำหนดเวลาว่าจะชั่งน้ำหนักรถบรรทุกได้ภายในเวลา 14.00 น.นั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยับเวลาออกไปจนกว่าช่างจากแขวงการทางจะดำเนินการซ่อมเพลารถที่ชำรุดให้กลับมาสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญหากเพลาและกระทะล้อด้านหลังยังไม่สมบูรณ์ น้ำหนักจริงทั้งหมดของรถบรรทุกและดินที่อยู่ภายในส่วนบรรทุกด้านหลังจะไม่สามารถแสดงน้ำหนักที่แท้จริงออกมาได้ เนื่องจากไม่มีการถ่ายเทน้ำหนักลงไปอย่างสมบูรณ์ และรถจะไม่สามารถเคลื่อนขึ้นไปบนตาชั่งได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อม

ส่วนขั้นตอนการสอบสวนข้อเท็จจริงภายหลังที่ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีตนเองเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตอนนี้ได้วางกรอบและขั้นตอนการสอบสวนทั้งหมดไว้แล้ว ส่วนกรอบระยะเวลาการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดของคณะกรรมการ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน

ชัชชาติไล่เช็ก317ไซต์ก่อสร้าง

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวกรณีเหตุการณ์รถบรรทุกดินตกลงในบ่อพักท่อร้อยสายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 64/1

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากบริเวณแยกราชปรารภและถนนสุขุมวิท ปากซอย 64/1 ที่มีรถตกลงไปในบริเวณที่ก่อสร้าง โดยเหตุล่าสุดเป็นพื้นที่ก่อสร้างของ กฟน.ที่นำสายไฟฟ้าลงดิน ทั้ง 2 กรณีคล้ายกันคือมีรถบรรทุกวิ่งผ่านอาจจะเกิดได้ 2 เรื่อง 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน จากการคำนวณด้วยสายตาคาดว่าบรรทุกน้ำหนักประมาณ 45 ตัน ต้องพิสูจน์กันต่อไป 2.การก่อสร้างฝาบ่อมีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งมีการซ่อมแซมเสริมคานเหล็กให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องน้ำหนักบรรทุกมีความซับซ้อนพอสมควร กทม.ต้องร่วมกับตำรวจ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น โดย กทม.ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งต้องกำหนดน้ำหนักเหมือนกับ อปท.อื่นๆ เพราะรถไม่ได้วิ่งภายในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรทุกมีการวิ่งไปในจังหวัดอื่นๆ ที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีด่านชั่งน้ำหนัก

นายชัชชาติกล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นคดีอาญา โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อจับกุมแล้วต้องส่งให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินคดี การดำเนินการต่อไปต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจและ ทล. ไม่รอชั่งน้ำหนักบนถนน แต่จะชั่งที่ต้นทางที่ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้ง 317 แห่ง ที่มีการขุดดินเหนียว ซึ่งได้ยืมเครื่องชั่งจาก ทล.มา 1 ตัวแล้ว โดยในวันนี้จะเข้าสุ่มตรวจ 1 ไซต์ก่อสร้าง

เล็งชั่งน้ำหนักก่อนขึ้นสะพาน

นายชัชชาติกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการวัดน้ำหนักบรรทุก ผ่านสะพานข้ามแยกต่างๆ โดยวิธี Bridge Weight in Motion ที่หลายประเทศมีการใช้งานจริง รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน ใช้เป็นหลักฐาน ในชั้นศาลได้ โดยผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จในอีก 2 เดือน แล้วจะนำงบกลางของ กทม. จัดซื้อเครื่องชั่งติดตั้งตามสะพานในจุดต่างๆ พบว่ารถคันที่เกิดเหตุบริเวณสุขุมวิท 64/1 มีภาพบันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 พบว่ามีน้ำหนักบรรทุกเกินขณะวิ่งผ่านบนสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยพบว่ามีน้ำหนักรวม 61 ตัน ซึ่งเกินมาตรฐานของรถสิบล้อขนาด 3 เพลาตามกฎที่ต้องไม่เกิน 25 ตันมากถึง 36 ตัน

คุมเข้มไซต์ก่อสร้างถึงขั้นสั่งปิด

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนน้ำหนักที่รองรับฝาบ่อบนถนนได้ต้องทำไว้เกินน้ำหนักที่กฎกำหนดไว้แล้ว รวมถึง กทม.จะเพิ่มเงื่อนไข ออกใบอนุญาตการก่อสร้าง ถ้าไซต์ก่อสร้างใดมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว พร้อมกับเสนอรัฐบาลปรับกฎหมายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยให้เจ้าของรถบรรทุก หรือผู้ว่าจ้างมีความผิดด้วย ซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ในช่วง 2 วันนี้ ต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยให้ผู้รับเหมาต่างๆ ตรวจสอบความแข็งแรงของฝาบ่อ อย่าง กฟน.มี 879 บ่อ ถ้ามีปัญหาไม่ต้องให้รถผ่านก่อน รวมถึงสั่งการให้ทุกเขตตรวจสอบไซต์ก่อสร้างที่ดูแล้วว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยนำเครื่องชั่งของ ทล.ไปชั่งที่ไซต์ก่อสร้างเลย” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า ในส่วนการดำเนินคดีกับรถคันดังกล่าว นายชัชชาติกล่าวว่า ในวันนี้จะมีการชั่งน้ำหนักดิน โดยทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อวานนี้ที่ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้เนื่องจากล้อรถแตก ผิดรูป เคลื่อนที่ไม่ได้ตามระเบียบของกรมทางหลวงจะต้องให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้แล้ววิ่งขึ้นมาบนเครื่องชั่งน้ำหนักจึงต้องรอให้มีการเปลี่ยนล้อให้เรียบร้อย เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่นจะทำการบันทึกและส่งข้อมูลพร้อมนำตัวคนขับและรถส่งให้กับตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย

ยันสำนักเขตไม่มีเอี่ยวส่วยรถบรรทุก

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถนั้นก็เป็นอำนาจการสอบสวนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน เนื่องจาก กทม.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้แค่ตรวจว่ามีผ้าคลุมหรือดินตกหล่นหรือไม่ ส่วนกรณีโซเชียลสงสัยว่า สำนักงานเขตต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักและจับกุม

“ทางเจ้าของธุรกิจ ถ้าทำผิดกฎหมายเราจะจัดการทุกมาตรการอย่างเด็ดขาด ถือว่าเอาเปรียบประชาชน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจทำตามกฎหมาย ปัญหาน่าจะบรรเทาลงไปเยอะ แต่ว่าเป็นเรื่องของคนเห็นแก่ตัว ที่แบกน้ำหนักเกิน เอาเปรียบใช้ทรัพยากรของคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รถคันเกิดเหตุเมื่อวานกับวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 มีลักษณะคล้ายกัน สีน้ำเงินเหมือนกัน และสติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียว มีลักษณะคล้ายกัน และเป็นสัญลักษณ์ตัว B เหมือนกัน ส่วนที่คล้ายอีกจุดคือ ป้ายบนหัวรถบรรทุก แต่ข้อความต่างกัน โดยรถคันเกิดเหตุเมื่อวานมีป้ายข้อความว่า เสี่ยบิ๊ก ส่วนวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 มีป้ายข้อความว่า เสี่ยอั่งเปา

ปธ.สหพันธ์ขนส่งฯชี้ส่วยแน่นอน

ที่รัฐสภา นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีรถบรรทุกตกถนนบริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 ว่า เป็นผลมาจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน หน้ารถมีสติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียวติดอยู่ ยืนยันว่าเป็นรถที่จ่ายส่วยเพื่อวิ่งนอกเวลาและบรรทุกน้ำหนักเกินแน่นอน ต้องจ่ายให้กับหลายหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถของตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสี่แยกจำนวนมาก จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ หากไม่มีสติ๊กเกอร์จะต้องถูกเรียกจอดเพื่อตรวจสอบทุกจุด

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเมื่อก่อนเกิดเหตุลักษณะเดียวกันที่บริเวณถนนราชปรารภ สังเกตว่าน่าจะเป็นรถบรรทุกคันเดียวกัน และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย และอุบัติภัยไม่เข้าไปดำเนินการ แต่ให้เจ้าของรถเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยอ้างว่ารถมีมูลค่าหลายล้านบาท ทั้งที่ถนนที่รถบรรทุกทำพังก็มีมูลค่าหลายล้านบาทเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการทำแบบนี้ถือว่าเห็นแก่ตัวเกินไป ถ้ารถไม่ติดชะงักอยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว มีรถตามหลังมาตกลงไปในท่อดังกล่าว ที่มีความลึกถึง 7 เมตร ความสูญเสียจะมากขนาดไหน” นายอภิชาติกล่าว

ห่วงสะพานข้ามแม่น้ำทรุดตัว

นายอภิชาติกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียวที่มีสัญลักษณ์ตัวบีติดอยู่สำหรับรถบรรทุกขนวัสดุขนดินในไซต์งานก่อสร้างเข้าออกเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในไซต์งานก่อสร้างจะไม่มีตาชั่งน้ำหนักสำหรับรถบรรทุก ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรน้ำหนักก็เกินกฎหมายกำหนด ขณะที่พื้นที่ทางหลวงจะมีด่านชั่งเพื่อตรวจสอบน้ำหนัก ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ว่านำรถบรรทุกไปชั่งน้ำหนักที่ใด จึงบอกว่า สามารถชั่งได้ก่อนขึ้นทางด่วนจะมีด่านชั่งน้ำหนักหากเกินจะไม่สามารถขึ้นทางด่วนได้ สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ สะพานข้ามแม่น้ำในพื้นที่ กทม. ไม่มีด่านชั่งน้ำหนัก หากเกิดการชำรุดหรือเสียหายขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก จึงอยากวิงวอนไปถึงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถบรรทุกขอให้ระมัดระวัง เพราะทักษะของผู้ขับขี่แต่ละคนไม่เท่ากัน

นายอภิชาติกล่าวด้วยว่า สำหรับส่วยสติ๊กเกอร์รูปดาวที่เกิดเหตุนี้ จะต้องจ่ายส่วยให้กับหน่วยงานหลายแห่ง ทั้งสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่ที่รถต้องขับผ่าน กทม. เจ้าของพื้นที่ ตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ จึงไม่สามารถพูดได้ และไม่รู้ว่าเจ้าของรถบรรทุกจ่ายส่วยให้ใครเคลียร์กับใคร แตกต่างจากครั้งที่แล้วที่มีข้อมูลทุกอย่างครบถ้วน

 

บรรยายใต้ภาพ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 11 พ.ย. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200