นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้เชิญ นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักการศึกษามาหารือภาพรวมการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2566 ความคืบหน้าโครงการ Saturday School Bangkok การดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของกรุงเทพมหานคร (Education Sandbox) รวมถึงการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนสังกัดกทม.
สำหรับกิจกรรมวันเด็กในปี 2566 นี้ สำนักการศึกษา (สนศ.) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2566 ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย และจะนำตัวแทนนักเรียนจาก โรงเรียนกทม.ทั้งหมด รวมถึงครูพี่เลี้ยง กว่า 1,000 คน มาร่วมงาน และลุ้นรับของที่ระลึกตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้สนศ.ประสานกับสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (สวท.) เพื่อปรับ รูปแบบการจัดงาน ให้สอดคล้องกัน เนื่องจากสวท.กำหนด จัดกิจกรรมงานวันเด็กในส่วนของสภากทม. ในวันเดียวกัน โดยกิจกรรมของสภากทม.นั้น คณะกรรมการสามัญทั้ง 12 คณะ จะจัดกิจกรรมตามห้องของคณะกรรมการทั้ง 12 คณะ ซึ่งต้องมีการปรับรูปแบบกิจกรรมของทั้ง 2 หน่วยงานให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ของอาคารไอราวัต และระยะเวลาที่จัดงาน
นอกจากนี้ สนศ.ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของกรุงเทพมหานคร (Education Sandbox) ตามที่ ครม. ได้มีมติประกาศให้ 11 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพ มหานคร เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อสนับสนุนการสร้าง นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการจากนี้ไป แต่ละจังหวัดจะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อดำเนินการสรรหา เบื้องต้นมีสถานศึกษาที่สมัครเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมศึกษา (Education Sandbox) แล้วจำนวน 54 โรงเรียน และจะมีการคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมและเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งในเรื่องนี้ได้ขอให้สนศ.นำรายละเอียดไปชี้แจงในการสัมมนา ระหว่างสมาชิกสภากทม.และผู้บริหารกทม. ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. นี้ และจะมีคณะผู้บริหารหน่วยงานของกรุงเทพมหานครทั้งหมดเข้าร่วมด้วย เพื่อให้ สก.และผู้บริหารทุกหน่วยงานได้รับทราบและเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณสำหรับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในปี ถัดไป
จากนั้น สนศ.ได้รายงานการดำเนินการ โครงการ Saturday School Bangkok ซึ่งกทม.ร่วมกับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ รับสมัครและคัดเลือกครูอาสาจากภาคเอกชน และประชาชนเข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ วิชาการ ทักษะชีวิตและอาชีพที่โรงเรียนหรือนักเรียนสนใจ ซึ่งได้มอบนโยบายให้สนศ.ประสานโรงเรียนอาชีวะเพื่อจัดส่งนร.มาร่วมเป็นอาสาสอนวิชาชีพด้วย เนื่องจากวิชาของโรงเรียนอาชีวะสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ทันทีหลังจากที่เด็กเรียนจบ รวมถึงให้พิจารณาจัดสอนเสริมช่วงเย็นหลังเลิกเรียนให้แก่นักเรียน เพื่อให้เด็กสามารถเรียนเสริมและทำการบ้านได้ครบถ้วน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่ต้องทำงานในช่วงเย็น และให้สนศ.พิจารณาเพิ่มจำนวนโรงเรียนขยายโอกาส หรือโรงเรียนในระดับ มัธยมศึกษาให้ครบ 50 เขต เพื่อเพิ่มโอกาส ทางการศึกษาให้เด็กทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 ธ.ค. 2565