(1 พ.ย.66) นายนภาพล จีระกุล ประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร นำคณะกรรมการฯ และ นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไสว โชติกะสุภา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตราษฎร์บูรณะ คณะผู้บริหารสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมเพื่อหารือการบริหารจัดการที่ดินบริจาคในซอยราษฎร์บูรณะ 1 เขตราษฎร์บูรณะ กรณีที่มีบริษัทเอกชนบริจาคเงินสร้างถนน แต่ประชาชนร้องเรียนว่าอาจเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์
นายนภาพล เปิดเผยภายหลังนำคณะฯ ลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อเท็จจริงบริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 1 ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งมองว่าถนนเส้นนี้ควรที่จะพัฒนาเป็นสาธารณะประโยชน์อื่น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยร่วมกัน แต่สภาพพื้นที่ปัจจุบันดูแล้วเหมือนจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในพื้นที่ วันนี้จึงได้เชิญประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ มาด้วย เพื่อรับทราบข้อมูลโดยละเอียด พื้นที่ถนนซอยราษฎร์บูรณะ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ปัจจุบันเป็นถนนทั้งหมด มีแบ่งเป็นสวนสาธารณะนิดหน่อย จากการประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปว่าจะปรับถนนให้เป็นช่องทางเข้าออก 1 ช่องทาง และอีก 1 ช่องทางให้เป็นสวนสำหรับประชาชน ซึ่งต้องมีการติดตามการทำงานของเขตฯ หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะประสานไปยังสำนักการโยธา และสำนักสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยดำเนินการต่อไป
“ที่ได้เข้ามาดู เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ผ่านส.ก.ไสว มา ว่าเดิมทีประชาชนได้ใช้สอยไปส่วนนึงแล้ว เมื่อมีการปรับปรุงถนน ประชาชนก็เห็นว่าควรทำเป็นสวนสาธารณะให้ได้มากกว่านี้ การที่ภาคเอกชนลงทุนปรับปรุงถนนให้ ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์มากกว่าประชาชน หากกรุงเทพมหานครนำมาพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็จะก่อให้เกิดความคุ้มค่า และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าในเขตราษฎร์บูรณะไม่มีสวนสาธารณะเลย จุดนี้ติดแม่น้ำ มีความสวยงาม หากทำเป็นสวนได้ จะเป็นแหล่งพักผ่อนให้ประชาชนได้พาครอบครัวมาผ่อนคลายทั้งในช่วงเช้าและเย็นได้ ในส่วนโครงการหมู่บ้านที่มีอยู่ก็จะเว้นช่องทางให้ โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างมีคุณภาพ ให้ทุกฝ่ายได้ใช้สอยร่วมกัน ซึ่งรับทราบว่าผอ.เขตได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเป็นสวนแนวตั้ง และจะมีการรายงานความคืบหน้าให้คณะฯ ทราบ ทุก 15 วัน หรือ 30 วัน ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2 เดือนจะเรียบร้อย แต่หากล่าช้าจะยื่นญัตติต่อสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้พิจารณาแนวทางบริหารจัดการกรณีพื้นที่นี้ต่อไป” ส.ก.นภาพล กล่าว
สำหรับสภาพพื้นที่บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 1 เดิมมีประชาชนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำถนนสาธารณะ จำนวน 19 หลัง ในปี 2562 เขตฯได้แจ้งให้รื้อถอน พร้อมทั้งขนย้ายออกจากถนนสาธารณะแล้วเสร็จ รวมทั้งได้ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงพื้นที่เพื่อป้องกันการรุกล้ำที่สาธารณะอย่างถาวร แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรร ต่อมาพบว่าประชาชนร้องเรียนการลักลอบทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าว เขตฯจึงได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่นำเศษวัสดุเหลือใช้จากโครงการทิ้งขยะชิ้นใหญ่มาประดิษฐ์เป็นชิงช้าเพื่อเป็นจุดเช็คอิน และป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ
ในปี 63 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขต เพื่อขอใช้พื้นที่สุดปลายซอยราษฎร์บูรณะ1 เพื่อรองรับแผนการก่อสร้างสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทางน้ำในอนาคต ประกอบกับบริษัทเอกชน เจ้าของที่ดินข้างเคียง แจ้งความจำนงในการให้ความร่วมมือปรับปรุงดำเนินการก่อสร้างถนน โดยรับเป็นผู้ดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด และให้เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร เขตฯจึงได้ทำหนังสือเพื่อขอความเห็นชอบจากกรุงเทพมหานคร และได้รับความเห็นชอบให้ปรับปรุงจนแล้วเสร็จ ซึ่งได้มีการใช้พื้นที่บางส่วนเป็นสวน 15 นาที ด้วย
อย่างไรก็ตาม ต่อมาพบว่ามีผู้ร้องเรียนยังสภากทม. เนื่องจากถนนที่ทำกว้างกว่า 30 เมตร และไม่ได้เชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ด้านการจราจรใดๆ เนื่องจากสุดซอยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หลังการปรับปรุงพื้นที่พบว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือเอกชน หากสามารถปรับเป็นพื้นที่สวนสาธารณะหรือที่ออกกำลังกายได้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้เป็นอย่างมาก
ด้าน ปธ.ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในที่ประชุม ว่า แนวทางอาจมี 2 ทางเลือก คือ 1. การทำให้ถนนมีสวนสาธารณะด้วยจะเอื้อประโยชน์กับคนเมือง แต่ต้องทำให้สวย ให้ทุกคนได้ประโยชน์ แนวทางนี้จะไม่ต้องขอเปลี่ยนสภาพการใช้พื้นที่ ไม่ต้องใช้เวลามาก แนวทางที่ 2. เนื่องจากสถานีดับเพลิงสามเสนแออัดมาก หากออกแบบให้ที่แปลงนี้ทำเป็นสถานีดับเพลิงทางน้ำบางส่วน เป็น Training center จะเป็นประโยชน์กับกทม. แต่ต้องมีการขอเปลี่ยนสภาพการใช้พื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่จะได้หารือร่วมกับสภากทม.ต่อไปในอนาคต โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนและกรุงเทพมหานคร
———–