นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเปิดโครงการ Digital Health Road Show “อัพสุขภาพสูงวัย จุดไฟดิจิทัล” ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ ว่า ผลการสำรวจการอ่านของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบพฤติกรรมการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุนั้นคือ ผู้สูงอายุที่อ่านเนื้อหาประเภทความรู้วิชาการจะมีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าการอ่านเนื้อหาประเภทอื่น ๆ
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความรู้วิชาการส่งผลต่อการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การสื่อสารการเพิ่มพูนความรู้ การตัดสินใจที่ถูกต้อง การทราบข้อมูลที่แท้จริง เพื่อใช้ในการวางแผนชีวิต เช่นเดียวกับผลการทดลองของสหรัฐอเมริกาที่ยืนยันว่า การอ่านหนังสือพิมพ์ การเข้าห้องสมุด การเล่นเกม หรือการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยสร้างใยประสาท ซึ่งส่งผลดีต่อสมองของผู้สูงวัย
ดังนั้น กทม.โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเอกชน จัดโครงการ Digital Health Road Show เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะการดูแลสุขภาพตัวเองในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่กทม. โดยมีเป้าหมายเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพและเทคโนโลยีของผู้สูงอายุให้สามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้น
เบื้องต้นเป็น การจัดพื้นที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กทม. 5 แห่ง แห่งละ 1 ครั้ง ตลอดเดือน ต.ค.พ.ย. 66 ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น.
“การจัดโครง การกับผู้สูงอายุครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับคุณค่าของแหล่งเรียนรู้โดยเสริมสร้างความรู้และทักษะการดูแลสุขภาพใน กลุ่มผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นในยุคดิจิทัล เป็นผู้สูงอายุมีคุณภาพ ชีวิตที่ดี มีคุณค่า และมีความสุข” นาย ศานนท์ ระบุ.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2566 (กรอบบ่าย)