“นโยบายของกทม. ซึ่งท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพูดอยู่เสมอ คือ Education (การศึกษา) ไม่สำคัญเท่ากับ Learning (การเรียนรู้) เพราะ Education เป็นการเรียนตามที่ถูกจัดไว้ แต่ Learning เกิดจากความอยากรู้ที่ทำให้เราต้องไปหาหรือขวนขวายว่าสิ่งที่เราอยากรู้อยู่ที่ไหน ดังนั้น เราจึงอยากปลูกฝังให้เกิด ‘ความอยากรู้’ แต่เมื่อเกิดความอยากรู้ขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องมีที่ที่ให้คนสามารถแสวงหาความรู้ในสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ชุมชน หรือใครก็ตามที่มีองค์ความรู้ ในการทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่มีความอยากรู้เข้าไปหาความรู้ได้ โดยต้องทำสองอย่างพร้อมกัน คือ สร้างความรู้ และสร้างให้คนอยากรู้ไปพร้อมกัน” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ Museum Meeting 2022 “ร่วมสร้างสรรค์ให้พิพิธภัณฑ์สนุกกว่าที่คิด” ในหัวข้อ “108 คำถาม มิวเซียมกับคนกรุงเทพ” ซึ่งมี นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสารออนไลน์ The Cloud ดำเนินการเสวนา ในวันนี้ (22 ก.ย. 65) เวลา 14.00 น. ณ มิวเซียมสยาม เขตพระนคร
● นิยามแหล่งเรียนรู้ของรองผู้ว่าฯ ศานนท์
“แหล่งเรียนรู้ในความคิดแรกของผมคือ “โรงเรียน” ที่มีทั้งหนังสือ คุณครู บอร์ดความรู้ต่าง ๆ รวมไปถึงเพื่อน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างหนึ่ง เพราะเพื่อนแต่ละคนจะมีความเก่งในด้านที่แตกต่างกัน บางครั้งผมว่าเพื่อนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เราเชื่อมากกว่าครู เพราะเพื่อนเหมือนเป็นคนที่ร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกัน อย่างเช่น การระบายสี เพื่อนอาจมีเทคนิคในรูปแบบใหม่ที่ครูไม่ได้สอน หรือกีฬา ผมก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนเช่นกัน ซึ่งการเรียนรู้จากเพื่อนเป็นการเรียนและลงมือทำไปด้วย” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการเรียนรู้จากกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เป็นการนำเอาวิชาต่าง ๆ จากสิ่งที่ได้เรียน มาประยุกต์ใช้ และได้เรียนรู้ในความผิดพลาด รวมไปถึงเรียนรู้เรื่องการรวมพล รวมเพื่อน เพื่อมาช่วยกันทำกิจกรรมที่ใหญ่มาก จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ “ทักษะมนุษย์” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน
● จุดเริ่มต้นของการทำโฮสเทล
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ก่อนมาเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอนนั้นเราทำงานประจำ และเรามีความรู้สึกว่าชอบเรื่องการท่องเที่ยว ชอบเรื่องเมืองเก่า ชอบงานชุมชน เพราะทำให้เราได้เจอคนที่แตกต่างและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในความรู้และทักษะต่าง ๆ ร่วมกัน จึงได้ไปนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พยายามจะบอกเราว่ารัตนโกสินทร์ก่อร่างมาอย่างไร และมีห้องหนึ่งที่เราสะดุดมาก ชื่อว่า “ดื่มด่ำวิถีชุมชน” ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้คาดหวังอะไร แค่คิดว่าจะเปิดทำกิจการด้านการท่องเที่ยวจึงต้องรู้ว่าพิพิธภัณฑ์มีอะไร แต่เราเซอร์ไพรส์มากที่ในเกาะรัตนโกสินทร์มีชุมชนโบราณอยู่เยอะมาก เราได้เข้าไปในห้องมีแผนที่ชุมชนต่าง ๆ เช่น ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนบ้านลาน ซึ่งเดิมเราเข้าใจว่าแค่เป็นการตั้งชื่อถนนเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นชุมชนที่มีอยู่จริง มีเรื่องราวอยู่จริง ๆ การเข้าแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วันนั้น ทำให้เราเข้าไปแหล่งเรียนรู้จริงในชุมชน
● ทรัพยากรการเรียนรู้ในกรุงเทพฯ
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กทม.เรามีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 140 แห่ง เหล่านี้คือทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าคนจะอยากรู้ ดังนั้น เราจึงต้องทำให้คนอยากรู้ โดยอาจใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อทำให้คนได้เห็นว่ายังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดความอยากรู้ และใคร ๆ ก็สามารถผลิตคอนเทนต์เพื่อให้คนอยากรู้ได้ ก็เป็นทักษะที่น่าจะพัฒนากันได้
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแหล่งเรียนรู้ห้องสมุด ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพเยอะ และกายภาพของห้องสมุดเป็นสิ่งที่กทม.ทำไว้ดีอยู่แล้ว แต่เรายังขาดกิจกรรมที่ทำให้คนอยากรู้ โดยเราอาจจะปรับตามบริบท เช่น ทำให้ห้องสมุดเป็นแหล่งให้ข้อมูลคำแนะนำแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
โอกาสนี้ นายทรงกลด ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การไปเยือนหอสมุดแห่งชาติ และรองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้ยกตัวอย่างห้องสมุดของกทม.ที่มีความน่าสนใจ เช่น ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บางเขน ที่มีครบทุกองค์ประกอบ เช่น ที่จอดรถ ที่ติดต่อราชการ ห้องฉายหนัง ฯลฯ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง ที่มีหนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรมเยอะมาก บรรณารักษ์มีความละเมียดละไม มีวิธีการซ่อมหนังสือ รวมถึงมีรายละเอียดที่ไม่ใช่แค่เรื่องหนังสือให้ได้เรียนรู้ เป็นต้น พร้อมได้พูดถึงกิจกรรม “Library Alive : ห้องสมุดมีชีวิต” ที่ กทม. ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD และภาคีเครือข่ายจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความต้องการที่อยากจะแสวงหาความรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ
ระหว่างการเสวนาได้มีความคิดเห็นหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการรวบรวมห้องสมุดทุกแห่งของประเทศไทยทั้งของรัฐบาลและเอกชนในรูปแบบแอปพลิเคชัน แสดงโลเคชันลิงก์กับ google map แล้วมีข้อมูลการเดินทาง facilities ต่าง ๆ ซึ่งรองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้ชื่นชมว่าเป็นไอเดียที่มีความน่าสนใจ พร้อมขอบคุณความคิดเห็นนี้และขอรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป
จากนั้นจึงเป็นการพูดคุยถึงเรื่องของพิพิธภัณฑ์ โดยรองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ในภาพจำคือสถานที่เข้าไปแล้วได้ความรู้ ออกมาแล้วฉลาดขึ้น ซึ่งหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์จริงแล้ว ๆ น่าจะเป็นการทำให้เราตั้งคำถามและฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา โดยพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตึก พร้อมยกตัวอย่างกิจกรรมของเทศกาลบางกอกวิทยา ที่ได้มีการไปดูตัวเงินตัวทอง ผึ้ง หรือสัตว์อื่น ๆ ที่สวนสาธารณะ และทำให้เห็นว่าสวนสาธารณะก็เป็นพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ได้ ในการนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ และนายทรงกลด ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การไปเยือนพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้พูดถึงแนวทางในการปรับโครงสร้างการบริหารพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ การกำกับดูแล การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน การไม่จำกัดว่าพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นสถานที่ในรูปแบบตึก แต่หมายรวมไปถึงชุมชนที่สามารถเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ ซึ่งมีนักปราชญ์ในพื้นที่ที่สามารถเป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ การเปลี่ยนจาก Push เป็น Pull ดึงคอนเทนต์ที่มีอยู่แต่เดิมในพื้นที่ แล้วเราเข้าไปกระตุ้นและให้การสนับสนุน รวมถึงการชวนคนที่สนใจและเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาร่วมมือกันในการดูแลคอนเทนต์ เพื่อไม่ต้องเดินอย่างโดดเดี่ยวและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรที่คนเข้าพิพิธภัณฑ์ไปแล้วอยากจะอ่านเนื้อหา” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า นอกจากการทำเนื้อหาให้น่าสนใจ เราอาจจะเปลี่ยนคอนเทนต์ที่เป็นตัวหนังสือ มาเป็นคอนเทนต์ในลักษณะของประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งเมื่อคนได้ลองสัมผัสประสบการณ์แล้วก็จะทำให้อยากที่จะอ่านหรือเสพคอนเทนต์ต่อมากขึ้น
● อนาคตของแหล่งเรียนรู้ในกรุงเทพฯ
“ตอนนี้เราอยู่ในจุดตัดของการพัฒนาในเรื่องของการเรียนรู้ เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทำให้วิธีการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เช่น มีการใช้โทรศัพท์มือถือที่คล่องขึ้น เป็นจุดที่เราต้องมองว่าทรัพยากร อาทิ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือแหล่งเรียนรู้ จะถูกปรับเปลี่ยนไปกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไร กทม.จะต้องทำความเข้าใจว่า การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่มีข้อดีอย่างไร และทรัพยากรที่มีอยู่เดิมจะมาเติมเต็มอย่างไร เราจะไม่เดินไปในแนวทางที่ต้องแย่งกัน แต่ต้องเป็นการเสริมกัน รวมถึงจะต้องดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
ในช่วงสุดท้ายของการเสวนาได้มีการพูดถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊ก Museum Thailand หรือคลิก https://fb.watch/fHL8Bq6YUE/
——————————