Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2566

กทม.พร้อมภาคีเครือข่ายเตรียม Kick-off ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 8 พ.ย.นี้

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) และสนับสนุนความร่วมมือรณรงค์การฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงในสถานพยาบาลของ กทม.ว่า สนอ.ได้เริ่มให้บริการฉีดวัคซีน HPV ครั้งแรกในปี พ.ศ.2558 ภายใต้โครงการให้บริการวัคซีนป้องกัน HPV ในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้แก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และมีผลความครอบคลุมวัคซีน HPV ปีละประมาณร้อยละ 96-98 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ.2560 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ขยายการให้วัคซีน HPV ในนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชนชาวไทย โดยที่ผ่านมานับว่าได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงคาดการณ์ว่า จะมีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนในครั้งนี้ประมาณ 90,000 ราย

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมความพร้อมให้บริการวัคซีน HPV โดยวางแผนตามแนวทางที่ สธ.กำหนดภายใต้บริบทของ สนอ.ในการดำเนินงานให้วัคซีนขั้นพื้นฐานในโรงเรียน พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กและผู้ปกครองผ่านโรงเรียนและสื่อสิ่งพิมพ์ โดย สนอ.มีแผนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย 4 ส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีน HPV และสนับสนุนความร่วมมือรณรงค์การฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ดังนี้ ประสานความร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์รายละเอียดของนโยบายและจุดให้บริการวัคซีนแก่สถานศึกษา และ/หรือโรงเรียนทุกสังกัดที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง อายุ 11-20 ปี และประสานความร่วมมือสำนักงานประชาสัมพันธ์และสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้นโยบายและสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นวงกว้าง รวมถึงประสานความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง วางแผนดำเนินการฉีดวัคซีนเชิงรุกในโรงเรียนรูปแบบ School-based แก่โรงเรียนที่มีกลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 11-18 ปี หรืออยู่ระหว่างศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งเปิดให้บริการในรูปแบบ Walk in สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 18-20 ปี หรืออยู่ระหว่างศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษาปีที่ 1-2 และกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยวางแผนจัดกิจกรรม Kick-off ในวันที่ 8 พ.ย.66 พร้อมกับเขตสุขภาพอื่น ๆ ในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพฯ

นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจข้อมูลนักเรียนหญิงในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการวัคซีน HPV ตามแนวทางที่ สธ.กำหนดว่า สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทราบและจัดเตรียมพร้อมนำส่งข้อมูลนักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 5 ในปีการศึกษา 2566 ที่สมัครใจเข้ารับวัคซีน โดยส่งให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ที่รับผิดชอบดำเนินการตามหนังสือ สนศ.เรื่อง การดำเนินงานวัคซีน HPV

 

กทม.กวดขันจัดระเบียบไม่ให้จอดรถกีดขวาง Bike lane ถนนกำแพงเพชร 3

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุบริเวณถนนกำแพงเพชร 3 ประตู 2 ตลาดนัดสวนจตุจักร มีรถจักรยานยนต์รับจ้างและรถสามล้อเครื่องจอดกีดขวางในช่องทางจักรยานว่า สำนักงานเขตจตุจักรร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางซื่อ กวดขันจัดระเบียบการจอดรถกีดขวางทางสัญจรช่องทางจักรยาน (Bike lane) พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กวดขันวินัยจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้โดยสะดวก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณช่องทางจักรยานอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีการจอดรถกีดขวาง อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะเพิ่มความเข้มงวดกวดขันให้มากยิ่งขึ้นต่อไป
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ได้จัดทำเส้นทางจักรยานถนนกำแพงเพชร 3 เป็นรูปแบบทางเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกายภายในสวนวชิรเบญจทัศน์ ซึ่งภายในสวนจะมีเส้นทางจักรยานที่สวยงาม ร่มรื่น อีกทั้งยังสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนโดยรอบได้อีกด้วย ในอนาคต สจส.จะร่วมกับสำนักงานเขตฯ พิจารณาขยายเส้นทางเดินเท้าและทางจักรยานที่ปลอดภัยให้เชื่อมต่อกับชุมชนต่าง ๆ ภายในรัศมี 2 กิโลเมตร เข้ามายังสวนสาธารณะได้ โดยไม่จำเป็น ต้องใช้รถยนต์ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและช่วยลดมลพิษทางอากาศ

สำหรับกรณีที่มีรถจักรยานยนต์เข้ามาใช้เส้นทางจักรยาน สจส.ได้ประสานฝ่ายเทศกิจ เขตจตุจักร ให้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากประชาชนในการขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือให้เฉพาะรถจักรยานใช้เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับผู้ใช้ทางจักรยาน

 

เขตจตุจักรกำชับผู้ประกอบการร้านค้าทำความสะอาดพื้น ไม่ล้างภาชนะ-เทน้ำลงผิวจราจร

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนถนนวิภาวดีรังสิต 16 บริเวณปากซอยแยก 5 มีร้านค้าขายอาหารล้างภาชนะและเทน้ำทิ้งลงบนผิวจราจร สร้างความสกปรกและความเดือดร้อนให้ผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบว่า สาเหตุที่พื้นผิวการจราจรเปียกแฉะ ไม่ได้เกิดจากการล้างภาชนะ หรือเทน้ำทิ้งลงผิวการจราจร แต่มีสาเหตุมาจากปัญหาท่อน้ำจากตัวอาคารร้านค้ามีสภาพชำรุด ทำให้มีน้ำรั่วซึมตลอดเวลา โดยสำนักงานเขตฯ ได้แจ้งผู้ประกอบการร้านค้าดังกล่าวให้เร่งซ่อมแซมท่อที่ชำรุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำรั่วซึม รวมทั้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าดังกล่าวทำความสะอาดพื้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และกำชับไม่ให้ล้างภาชนะ หรือเทน้ำลงพื้นผิวการจราจรโดยเด็ดขาด เพื่อรักษาความสะอาดในที่สาธารณะและสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200