Search
Close this search box.
รองผู้ว่าฯ ทวิดา พาน้องเยาวชนโครงการ Young Health Programme ดูงาน กทม. แนะจุดไฟในตนเองได้ต้องไม่ลืมให้โอกาสคนอื่นด้วย

 

“ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งได้มาอยู่ในระดับที่หลายคนเรียกว่าเป็นผู้นำ ก็อยากจะให้กำลังใจผู้หญิงทุกคน ขอให้เชื่อว่าเราทำได้ทุกอย่าง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเราต้องสำเร็จทุกอย่าง แต่เมื่อไรที่เราล้มเหลว เมื่อไรที่เราพลาด ขอให้บอกตัวเองว่าฉันทำได้ แล้วแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น เพราะไม่มีใครไม่เคยผิดพลาดมาก่อน สิ่งสำคัญคืออย่าทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ กำลังใจอาจมาจากคนรอบข้างได้ แต่พลังใจต้องมาจากตนเอง” ความตอนหนึ่งของ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ที่กล่าวกับน้อง ๆ เยาวชนในโครงการ Young Health Programme ซึ่งขอมาตามติดการทำงานเพื่อศึกษาเรียนรู้บทบาทของผู้นำหญิงของกรุงเทพมหานครในวันนี้

 

 

(27 ต.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 เขตดินแดง และสถานีดับเพลิงและกู้ภัยพหลโยธิน เขตพญาไท โดยมี นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะเยาวชนโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน หรือ Young Health Programme (YHP) ขององค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงพื้นที่

การตรวจเยี่ยมของรองผู้ว่าฯ ทวิดาในวันนี้ เป็นการติดตามการทำงานเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือการพาน้อง ๆ ที่อยากได้แรงบันดาลใจมาสัมผัสการทำงานของ “คนทำงานจริง” ให้เห็นถึงกระบวนการทำงาน ความยาก-ง่ายในการทำงาน อาทิ ขั้นตอนการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ขั้นตอนการช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยจะต้องพร้อมตลอดเวลาเพื่อไปถึงที่เกิดเหตุให้ไวที่สุด รวมทั้งเพื่อให้น้อง ๆ เห็นถึงปัญหาในการทำงานที่ต้องการการแก้ไข เข้าใจและเข้าถึงหัวใจของคนทำงานผ่านการรับฟังปัญหาและอุปสรรคที่เขาต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขาดบุคลากรด้านการกายภาพบำบัดเพราะความก้าวหน้าในอาชีพยังไม่มีให้เขา ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนอกสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกระบบ Bangkok Health Zone ซึ่งยังมีความล่าช้า ปัญหาอุปกรณ์ที่ชำรุดและรอการซ่อมหรือจัดหาใหม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมองเห็นและกำลังเร่งแก้ไขให้ดีขึ้น

หลังจากตรวจเยี่ยมเสร็จ น้อง ๆ ก็ได้ขอสัมภาษณ์รองผู้ว่าฯ ทวิดาว่าทำไมถึงตัดสินใจอนุญาตให้น้อง ๆ ได้มาร่วมกิจกรรมและมาดูวิธีการทำงานของท่าน ซึ่งรองผู้ว่าฯ ได้ตอบว่า เหตุผลแรกคือตนเห็นความตั้งใจของน้อง ๆ ที่เลือกศึกษางานจากหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพราะปกติเวลาองค์กรต่าง ๆ จัดงานมักมาไม่ถึงท้องถิ่น ซึ่งการที่ตอบรับให้น้อง ๆ กลุ่มนี้ได้เข้ามาติดตามงานจะทำให้น้อง ๆ มีความเข้าใจงานท้องถิ่นมากขึ้น และยังหมายถึงตนได้โอกาสพูดแทนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อทำให้เห็นว่าท้องถิ่นมีความสำคัญแค่ไหน ซึ่งนี่คือพื้นฐานที่ดีที่สุดของการกระจายอำนาจ

เหตุผลที่สอง แม้น้อง ๆ จะรู้สึกว่าการมาติดตามตนสามารถสร้างแรงบันดาลใจ แต่แรงบันดาลใจบางทีก็ไม่ได้เกิดจากความสวยงามในฐานะของการเป็นผู้นำที่มีอำนาจสั่งโน่นสั่งนี่ เพราะจริง ๆ แล้วแรงบันดาลใจอาจเกิดจากการที่น้อง ๆ ได้มาแล้วให้ความสนใจกับสิ่งที่ได้เห็นแค่ไหน น้อง ๆ สนใจงานที่เจ้าหน้าที่ทำ น้อง ๆ เดินไปถามเจ้าหน้าที่เอง รวมถึงน้อง ๆ ตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้องานต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งการที่น้อง ๆ สนใจงานจริง ๆ แบบนี้ ทำให้เห็นแล้วว่าน้อง ๆ มีความเห็นอกเห็นใจหน่วยงานที่เขาพยายามทำงานอยู่ ซึ่งตนเชื่อว่ามีผลดีมากกว่าแค่ติดตามดูการทำงานของรองผู้ว่าฯ ในฐานะผู้นำหญิง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันผู้หญิงเอาชนะ Glass ceiling (เพดานกระจก หรือเพดานของความก้าวหน้าที่ผู้หญิงทะลุไปไม่ถึง) ได้เยอะมากแล้ว ผู้หญิงเรามีความอดทนค่อนข้างสูง เรามีความละเอียด แต่ใครที่บอกว่าเราทำงานแข็งแรงไม่ได้นั้นไม่จริง ซึ่งวันนี้น้อง ๆ ก็ได้เห็นแล้วว่าผู้หญิงสามารถจับงู สามารถทำงานผจญเพลิงได้ เป็นคุณหมอได้ ข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้หญิงอาจจะไม่ได้มีอยู่แล้ว ทุกคนโชคดีมากที่เกิดมาในสังคมแห่งการศึกษาเรียนรู้และสังคมที่ไม่เอาข้อจำกัดไปห้ามในการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นให้เชื่อว่าเราทำได้ เรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ แล้วพยายามใช้ความรู้นั้นในการทำงานให้ได้ อย่าไปยอมแพ้อุปสรรค

“อีกมุมหนึ่ง สังคมไทยตอนนี้พูดถึงคำว่า gender (เพศสภาพ) มากกว่าผู้หญิง ในเมื่อครั้งหนึ่งเราเคยเป็นผู้หญิงและเราเคยถูกจำกัด วันนี้เราสู้ได้มาถึงตอนนี้ ก็อย่าลืมว่าเราต้องทำเพื่อ gender อื่นด้วย ซึ่งหมายความว่าในฐานะผู้หญิง เราต้องให้โอกาสผู้หญิงด้วยกันและให้โอกาส gender อื่นที่อยู่ในสังคม เราสู้เพื่อตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองได้ แต่ในขณะเดียวกัน อย่าทำให้เราไม่ให้โอกาสคนอื่น โดยเราต้องทำให้คนอื่นมีโอกาสเหมือนเราด้วย” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกิจกรรมที่โครงการ Young Health Programme ทำในครั้งนี้ คือ กิจกรรม Girls Takeover ซึ่งเป็นการให้โอกาสน้อง ๆ เยาวชนหญิงได้เห็นตัวอย่างผู้นำที่เป็นผู้หญิง ได้รู้ว่าจริง ๆ ผู้หญิงสามารถลุกขึ้นเป็นผู้นำในองค์กรใหญ่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือองค์กรภาคใดก็ตาม ได้ทราบว่าบทบาทที่ของผู้นำหญิงเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้น้อง ๆ เยาวชนหญิงต่อไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของกิจกรรม Girls Takeover เกิดขึ้นจากองค์การแพลนฯ ต้องการร่วมเฉลิมฉลอง “วันเด็กผู้หญิงสากล” (International Day of the Girl Child) ซึ่งจัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติในวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี เพื่อจุดประกายให้สังคมโลกตระหนักรู้เรื่องสิทธิของเด็กผู้หญิง เข้าใจความท้าทายและการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่เด็กผู้หญิงทั่วโลกกำลังเผชิญ รวมถึงเพื่อใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนสังคมโลกให้ทำงานร่วมกันในการสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงเข้าถึงสิทธิในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสุขภาวะที่ดี การเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงสามารถใช้ศักยภาพสูงสุดของตนเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนของสังคมได้ในอนาคต

อนึ่ง ภายหลังการตรวจเยี่ยมและให้สัมภาษณ์กับน้อง ๆ เยาวชนแล้วเสร็จ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เข้าประชุมเพื่อหารือการแก้ไขข้อบัญญัติหรือระเบียบของ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย ร่วมกับผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถานีดับเพลิงและกู้ภัยพหลโยธิน
—————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200