Search
Close this search box.
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ติดตามจัดระเบียบผู้ค้าย่านถนนเยาวราช เน้นย้ำต้องพลิกโฉมให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมชมคัดแยกขยะชุมชนพิพากษา ตรวจแยกขยะเขตสัมพันธวงศ์ เช็กระบบ BMA-TAX เพิ่มความเร็วงานบริการทะเบียนบัตร

(27 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ประกอบด้วย

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนเยาวราช เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้า ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้า ลงวันที่ 17 มีนาคม 2565 จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 440 ราย ได้แก่ 1.ถนนเยาวราช ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรีถึงแยกราชวงศ์ ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 25 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 70 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-24.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 78 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 95 ราย 2.ถนนราชวงศ์ ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกราชวงศ์ถึงท่าเรือราชวงศ์ ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 46 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 98 ราย 3.ถนนข้าวหลาม ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-23.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 17 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 11 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 82 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,961 ราย

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้เดินสำรวจพื้นที่ทำการค้า เริ่มจากถนนผดุงด้าว ลัดเลาะเข้าถนนแปลงนาม จนออกสู่ใจกลางถนนเยาวราช พบว่ามีบางร้านค้าตั้งวางอุปกรณ์ประกอบอาหารเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ อีกทั้งปล่อยน้ำที่ใช้ล้างทำความสะอาดผักสดและอาหารสด รวมถึงน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารทะเลไหลลงสู่พื้นผิวจราจร สร้างความสกปรกและอาจก่อให้เกิดปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันตามมา โดยได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของหรือวางขายสินค้ารุกล้ำในทางเท้าเกินแนวเส้นที่เขตฯ ขีดสีตีเส้นไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ พร้อมทั้งเน้นย้ำเมื่อมีการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่แล้ว ทุกอย่างต้องไม่เหมือนเดิม ควรมีการปรับปรุงพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ตลอดจนพิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย หรือให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม วัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบผู้ค้าและพื้นที่ทางเท้า เพื่อให้ผู้ค้า ประชาชน และนักท่องเที่ยว สามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนพิพากษา พื้นที่ 1.75 ไร่ ประชากร 429 คน บ้านเรือน 145 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกมูลฝอยอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลฝอยอินทรีย์ ประเภทเปลือกผลไม้ เพื่อแจกให้กับประชาชน 2.ขยะรีไซเคิล ในชุมชนมีจุดรวบรวมขวดพลาสติก เพื่อร่วมโครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ แยกเพื่อให้ พี่ไม้กวาด กิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิลขยะสร้าง 3.ขยะทั่วไป นำขยะทั่วไปที่เหลือจากการคัดแยกแล้ว ใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อรอเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บทุกวัน โดยวิธีการชักลาก 4.ขยะอันตราย มีจุดรวบรวมขยะอันตรายในชุมชน เจ้าหน้าที่จัดเก็บ 1 ครั้ง/เดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 19,500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 15,600 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 150 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 350 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 12 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0.30 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.30 กิโลกรัม/เดือน

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ เขตสัมพันธวงศ์ มีข้าราชการและบุคลากร 508 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังรองรับขยะรีไซเคิล ระหว่างอาคาร 1 อาคาร 2 และในแต่ชั้นของอาคาร ตั้งวางคอกตาข่ายจุดรับพลาสติกกำพร้า ตั้งจุด Drop Off ตามนโยบายส่งขยะกลับคืนสู่ระบบ โครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ แยกเพื่อให้ พี่ไม้กวาด เจ้าหน้าที่รวบรวมและนำส่ง 1 ครั้ง/เดือน 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังรองรับขยะอินทรีย์ ระหว่างอาคาร 1 และอาคาร 2 แต่ละฝ่ายรวบรวมขยะอินทรีย์ทิ้งในจุดดังกล่าว ตามโครงการไม่เทรวม การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลฝอยอินทรีย์ ประเภทเปลือกผลไม้ เพื่อแจกให้กับประชาชน 3.ขยะอันตราย ตั้งวางถังรองรับขยะอันตราย ระหว่างอาคาร 1 และอาคาร 2 เจ้าหน้าที่รวบรวมและนำส่ง 1 ครั้ง/เดือน 4.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังรองรับขยะทั่วไป ระหว่างอาคาร 1 อาคาร 2 และในแต่ชั้นของอาคาร เจ้าหน้าที่จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,880 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 65 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 6 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน

จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ โดยสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) จำนวนจดหมายตีกลับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ การนำข้อมูลที่สำรวจได้ลงในระบบ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 5,923 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 12,440 แห่ง ห้องชุด 738 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 19,101 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตสัมพันธวงศ์ ภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงาน ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสัมพันธวงศ์ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #บริหารจัดการดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200