(2 ธ.ค.65) เวลา 19.00 น. : นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok #15) และรับชมภาพยนตร์เปิดเทศกาล เรื่อง ‘Stone Turtle’ โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NATION GROUP และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์เข้าร่วมงาน และมีนายดรสะรณ โกวิทวณิชชา ผู้อำนวยการเทศกาลฯ เป็นผู้กล่าวถึงการจัดเทศกาลฯ ภายใต้แนวคิด “Return To Cinema” ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ซีนีมา เซ็นทรัล เวิลด์
เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2565 ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีนีม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน ซึ่งภาพยนตร์แต่ละเรื่องได้ผ่านขั้นตอนคัดเลือกภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วโลกประมาณ 51 ประเทศ จำนวน 61 เรื่อง โดยเชิญผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์และดารานักแสดงจากภาพยนตร์ระดับรางวัลจากหลายประเทศกว่า 20 คนเดินทางมาร่วมงานในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวและการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย
รองผู้ว่าฯกทม. ศานนท์ กล่าวว่า ภาพยนตร์มีความสำคัญ เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม Soft Power ส่งเสริมให้คนอยากเข้ามาในเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมือง เกิดการจับจ่ายใช้สอยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรุงเทพมหานครเล็งเห็นว่าภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องขับเคลื่อนและได้รับการสนับสนุน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ทีมผู้บริหารชุดนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งของกรุงเทพมหานคร รวมถึงมีการจัดงาน “กรุงเทพกลางแปลง” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าใจอุปสรรคต่างๆ มากขึ้น หลังจากการจัดงาน “กรุงเทพกลางแปลง” จะเห็นว่าภาพยนตร์ปัจจุบันในเมืองเริ่มไม่ค่อยมีฉากในเมืองเท่าไหร่ ก็คงเป็นโจทย์ที่กทม.จะต้องขับเคลื่อนร่วมกับทุกท่านในและคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปด้วยกัน
การที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเป็นเจ้าภาพและสนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนในเมืองนั้นๆ แต่ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกด้วย เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งเทศกาลที่ยอมรับในแวดวงภาพยนตร์โลก ซึ่งได้ส่งเสริมและช่วยให้เมืองกรุงเทพมหานครอยู่ในแผนที่ของเทศกาลภาพยนตร์หลักๆ ทั่วโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย สำหรับปีนี้เทศกาลฯ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 แล้ว ทางกรุงเทพมหานครมีความยินดีที่มีส่วนรวมพัฒนาเมืองหลวงของประเทศด้วยความสร้างสรรค์ผ่านภาพยนตร์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศมากกว่า 50 ประเทศ ที่จะฉายในกรุงเทพฯ แล้วยังทำให้ภาพยนตร์ไทยยังมีโอกาสที่ดีในการเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากขึ้นในระดับโลก หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนห่างหายจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง โดยเทศกาลนี้จะทำให้การชมภาพยนตร์ในโรงหนังกลับมาสร้างความสุขให้แก่ผู้ชมอีกครั้งและเป็นการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายจากนานาประเทศ เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 15 เป็นงานที่จัดมาอย่างยาวนานในเมืองนี้ แล้วยังเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งกรุงเทพมหานครภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนธุรกิจภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ และขอให้ผู้จัดงานเทศกาลฯ จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯในครั้งต่อๆ ไปอีกในอนาคต
ทั้งนี้ กิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ (World Film Festival of Bangkok) ริเริ่มมาจากผู้อำนวยการเทศกาลคนแรกคือนายเกรียงศักดิ์ ศิลากอง หรือ “วิคเตอร์” ตั้งแต่ปี 2546 ที่จัดต่อเนื่องมา 14 ปี โดยได้หยุดจัดงานเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ครั้งที่ 14 ช่วงต้นปี 2560 จากหลายปัจจัยแวดล้อมของประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในระหว่างปี 2563-2564 โดยกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระของไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพมาโดยตลอด พร้อมร่วมผลักดันเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพจนได้รับการยอมรับจากวงการภาพยนตร์ในเวทีระดับนานาชาติ โดยได้ร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในประเทศต่างๆ นำภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับรางวัลมาฉายในโรงภาพยนตร์ให้กับคนไทยและชาวต่างประเทศที่อาศัยและมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้รับชมมากมาย ในแต่ละปีประมาณ 70-80 เรื่องตลอด 10 วันของการจัดเทศกาล เฉลี่ยมีผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ในแต่ละปีมากกว่า 5,000-6,000 คน
ในปี 2565 นี้ เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีผู้เข้าชมภาพยนตร์ประมาณ 60 เรื่องจาก 120 รอบใน 3 โรงภาพยนตร์ ตลอด 10 วันของการจัดเทศกาล ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2565 รวมประมาณ 10,000 คน เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผู้ผลิตและผู้สร้างภาพยนตร์ไทยอิสระ ซึ่งในแต่ละปีได้กำหนดให้มีภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลและฉายในวันเปิดและปิดเทศกาลมาโดยตลอด เพื่อผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยที่เป็น Soft Power ได้ใช้เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ เป็นใบเบิกทางไปสู่เวทีเทศกาลภาพยนตร์ในระดับนานาชาติ โดยกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระของไทยได้ร่วมกับกลุ่มเนชั่นโดย The Nation สื่อภาษาอังกฤษในการผลักดันเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพมาโดยตลอด ซึ่งบทบาทหลักของกลุ่มเนชั่นคือการเปิดพื้นที่สื่ออย่างหลากหลายในการสื่อสารข้อมูลและข่าวสารเป็นภาษาอังกฤษไปสู่ต่างประเทศ
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถรับชมบรรยากาศการเปิดเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok #15) ได้ที่ https://fb.watch/h9KL81I_8q/
#สร้างสรรค์ดี #เศรษฐกิจดี
——————————————————–