มาแน่ดึง’ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ช่วยกรองผลงาน ยึดเป้า 22 ข้อ
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการบุคลากรสังกัด กทม.ว่า มีกฎหมายหลัก 2 ฉบับ ที่นำมาใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการบุคลากรได้แก่ กฎหมายฉบับการบริหาร และกฎหมายเกี่ยวกับบุคลากร โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพ มหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่ละคนจะเอาใจใส่ด้านใด แต่ กทม.ยึดหลักกฎหมายดังกล่าวเพื่อปฏิบัติตามขั้นตอน
โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรที่มีกระบวนการชัดเจน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ผ่านมายึดอาวุโสเป็นหลัก เพื่อเข้าสู่กระบวนการประเมินตามลำดับขั้น ตลอด 1 ปี กทม.ยึด ตามระเบียบสำนัก ก.ก.เข้มงวด และในปีที่ 2 จะเพิ่มมิติการประเมินมากกว่าความอาวุโสและพฤติกรรม รวมถึงวิธีการจัดการแบบเดิม
ส่วนปีที่ 3 ตั้งเป้าประเมินบุคลากรโดยใช้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ เข้ามามีส่วนร่วมประเมินผลจากการปฏิบัติงานในส่วนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 22 ข้อ หรือกุญแจแห่งความสำเร็จที่ กทม.กำหนดขึ้น
นายต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า ได้ให้สำนักงาน ก.ก.จัดทำกติกา เพื่อใช้ผลงานเป็นตัวประเมิน โดยข้อมูลในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ถือเป็นข้อมูลระบบดิจิทัลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อกำหนดโบนัสและความก้าวหน้าของบุคลากร เรื่องดังกล่าวเป็นแผนที่จะนำมาใช้ในระยะ 3 ปีจากนี้
ด้านนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. กล่าวถึง เป้าหมาย 22 ข้อซึ่งเป็นแผนดำเนินงานของสำนักงานเขตใน ปี 67 ว่า เป้าหมายดังกล่าวมาจากประเด็นพัฒนา 28 กลุ่ม ใน ปี 66 โดยผู้ว่าฯ กทม. เลือกมาเป็นเป้าหมายหลัก 22 ข้อ เพื่อนำมากำหนดทิศทางในการปฏิบัติงานของแต่ละเขต ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ปัจจุบันมีการปรับให้นำด้านสร้างสรรค์ดี ไปแทรกไว้ในเป้าหมายทุกข้อ และเพิ่มเรื่องความปลอดภัยของเทศกิจ
นอกจากนี้ ผู้บริหาร กทม.ทำหน้าที่สนับสนุนและกำกับติดตามผู้ปฏิบัติ เพื่อประเมินภายใต้หลักการคือ 1.ดำเนินเป้าหมาย 22 เรื่องอย่างชัดเจน 2.การปฏิบัติทั้ง 22 ข้อ ขึ้นอยู่กับแนวทางปฏิบัติของบุคลากรแต่ละคนและตามความพร้อม บริบท โดยต้องรายงานความคืบหน้าต่อเนื่อง
3.มีกรรมการตรวจสอบ ติดตามผลดำเนินงานชัดเจน โดยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.ออกแบบระบบ BMA DIGITAL PLANS หรือระบบบริหารจัดการแผนพัฒนา เพื่อบันทึกข้อมูลโครงการ/กิจกรรมและตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ซึ่งผู้บริหารสามารถติดตามผลผ่านโทรศัพท์มือถือ และประชุมติดตามงานทุกเดือน เพื่อให้หน่วยงานระดับสำนักคอยช่วยเหลือสนับสนุนปัญหาที่แต่ละเขตพบ เนื่องจากเป้าหมาย 22 ข้อดังกล่าว มีที่มาจากระดับสำนัก ส่วนผู้ปฏิบัติคือแต่ละเขต จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อน
ผู้สื่อข่าวรายงาน เป้าหมาย 22 ข้อ อาทิ การพัฒนาถนนสวย การเพิ่มสวน 15 นาที การปรับปรุงทางเท้า การติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างริมถนน-ริมคลอง แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม-จุดจราจรฝืดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และอาชญากรรม เป็นต้น.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2566