(17 ต.ค.66) ณ สภาเภสัชกรรม อาคารมหิตลาธิเบศร์ ชั้น 14 : รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริการด้านสาธารณสุข ระหว่าง 6 องค์กรที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน
สำหรับวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อดำเนินงานความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบบริการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การลดความแออัด การเชื่อมต่อและส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้เกิดระบบเครือข่ายของการดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (ร้านยา) จนถึงระดับตติยภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกันในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างบริการเภสัชกรรมกับทุกฝ่าย ทำให้เกิดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัยอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม แก่ประเทศชาติและประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ตลอดจนสร้างบทบาทนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยที่ทั้ง 6 ฝ่าย พร้อมจะร่วมกันพัฒนาแนวทางและการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน ของการให้บริการเภสัชกรรม การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การลดความแออัดในหน่วยบริการ การเชื่อมต่อส่งต่อผู้ป่วยรวมถึงนวัตกรรมบริการใหม่ ๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของ ประเทศ ซึ่งเป็นความยั่งยืนของระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรม
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีบทบาทหน้าที่ ในการร่วมพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบบริการ โดยการสนับสนุนเชื่อมต่อข้อมูลด้านสุขภาพ และจัดทำแนวทางการให้บริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ในมิติการรักษา เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และฟื้นฟูสุขภาพ ร่วมพัฒนาและขยายเครือข่ายเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดระบบการดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จนถึงระดับตติยภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการประสานส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและนวัตกรรมบริการด้านสาธารณสุข
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการร้านยาใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลง โดยร้านขายยาที่จดทะเบียนที่ได้มาตรฐานกับสภาเภสัชกรรม สามารถที่จะจ่ายยาในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเบื้องต้นได้ ด้าน กทม. เราทำหน้าที่มากไปกว่านั้นคือ นำร่องโครงการ รับยาร้านยาใกล้บ้าน ที่โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรคเรื้อรังแต่ไม่ติดต่อและมีอาการคงที่ สามารถปรึกษาอาการกับเภสัชกรและรับยาในร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้ป่วยยังคงได้รับการติดตามประสิทธิภาพการรักษาอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม ระยะต่อไปการเชื่อมโยงระหว่างเทเลฟาร์มาซีและหมอ กทม. 2 ระบบนี้ จะทำให้ความแออัดในโรงพยาบาลลดลง โดยภายในปีหน้าระบบจะครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้นในการให้บริการประชาชน
———-