Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566

กทม.พร้อมรับมือน้ำเหนือ เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม – เสริมกระสอบทรายแนวฟันหลอ 

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 9-15 ต.ค.66 เขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำ 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ประกอบกับกรมชลประทาน (ชป.) มีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 4 ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 20-80 เซนติเมตร (ซม.) กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์และติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่น ๆ ในการเฝ้าระวัง เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

นอกจากนั้น กทม.ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนและอำนวยความสะดวก เช่น การทำสะพานทางเดินชั่วคราวช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง

ส่วนแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่แนวคันกั้นน้ำมีระดับต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเจ้าหน้าที่เรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงโดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณกลางเดือน ต.ค.นี้ โดยเรียงไว้ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางประมาณ + 2.40 ม.รทก. ถึง + 2.70 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำต่างๆ ตามแนวริมแม่น้ำทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ทันทีหากมีน้ำไหลล้น หรือรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ด้านใน ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมกระสอบทรายเปล่าที่พร้อมใช้งาน 355,000 ใบ และมีแผนการจัดซื้อกระสอบทรายเปล่าในปี 2566 ประมาณ 1,200,000 ใบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะได้กระสอบทรายเปล่าในเดือน ต.ค.นี้ รวมกระสอบทรายเปล่าที่จะใช้งานได้ทั้งหมด 1,555,000 ใบ ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด

สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือและเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด หรือบางชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่าน กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่าตรวจสอบ กำชับ และใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน พร้อมทั้งเปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ติดริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าและสามารถเตรียมการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ.ได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกับสำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขต 50 เขต ฯลฯ จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์และป้องกันผลกระทบจากปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ตามที่กรมชลประทานแจ้งเตือน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์ผ่านสายด่วน 199 หรือสายด่วน กทม.1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

กทม.เร่งปรับปรุงกายภาพทางข้าม – ติดกล้อง CCTV พร้อม AI ป้องปรามผู้ทำผิดกฎจราจร

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการพิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบริเวณทางข้ามว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ลักลอบกลับรถตรงทางข้าม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจราจรและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สจส.ได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจจราจร เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งกวดขันวินัยจราจร ขณะเดียวกันได้เร่งปรับปรุงกายภาพทางข้ามให้ปลอดภัย พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบ AI ให้ครอบคลุมทั่วทุกทางแยกและทางข้าม เพื่อเฝ้าเตือนและจับผิดผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร ทั้งการไม่หยุดชะลอให้คนข้ามถนน การจอดล้ำเส้นหยุดรถ การจอดรถกีดขวาง การขับขี่ฝ่าสัญญาณไฟแดง การขับขี่ย้อนศร การขี่รถ จักรยานยนต์บนทางเท้า และการกลับรถในที่ห้ามกลับรถ จะถูกลงโทษทั้งทางกฎหมายและเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์แสดงถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีและไม่ควรเลียนแบบ นอกจากนั้น หากผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดเป็นผู้ให้บริการส่งอาหาร – ส่งของ (ไรเดอร์) หรือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง สจส.จะจัดส่งภาพให้ต้นสังกัด เพื่อพิจารณาปรับปรุงการทำงานต่อไป
 

กทม.ประสาน กฟน.เข้มมาตรการความปลอดภัยงานก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสาย ถ.พหลโยธิน

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีข่าวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บจากงานปรับปรุงพื้นถนนในพื้นที่เขตจตุจักรว่า จากการตรวจสอบพบว่า จุดเกิดเหตุอยู่บนถนนพหลโยธินในบริเวณก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสาย เพื่อจ่ายไฟให้โครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยระหว่างการเปิดฝาบ่อทำงานช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 12 ต.ค.66 และปิดฝาบ่อในช่วงเช้า เพื่อคืนสภาพผิวจราจรให้ประชาชนใช้สัญจร ปรากฏว่า ผู้รับจ้างของ กฟน.ปิดแผ่นฝาบ่อไม่เรียบเสมอกับพื้นผิวถนน ซึ่งนับเป็นความบกพร่องประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม สนย.ได้ประสาน กฟน.เร่งรัดตรวจสอบและซ่อมแซมแก้ไขฝาบ่อบริเวณดังกล่าว โดยได้แก้ใขชั่วคราวและสามารถเปิดการจราจรได้แล้ว ส่วนการแก้ไขอย่างถาวรแล้วเสร็จในวันที่ 15 ต.ค.66 สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ กฟน.อยู่ระหว่างติดต่อเจรจา เพื่อชดเชยค่าเสียหายและเยียวยาต่อไป

ทั้งนี้ สนย.ได้จัดประชุมเพื่อประสานและกำชับหน่วยงานก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ใช้ผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ควบคุม กำกับการทำงาน และเข้มงวดตรวจสอบผิวจราจรให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย พร้อมทั้งตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างโดยตลอด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน

 

 

เขตปทุมวันเร่งของบฯ สนับสนุนศูนย์ฝึกอาชีพสวนลุมพินี เตรียมปรับหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพ กทม.(สวนลุมพินี) ภายหลังถูกตัดงบประมาณว่าสำนักงานเขตปทุมวันอยู่ระหว่างการขอจัดสรรงบประมาณ ตามแนวทางการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อสนับสนุนการฝึกอาชีพ โดยสำนักงบประมาณขอให้จัดทำเอกสารผลการดำเนินงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยากร หลักสูตรการสอน และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณย้อนหลัง 3 ปี เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้สำนักงานเขตฯ ได้วางแนวทางรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว โดยในส่วนของวิทยากรได้ประสานให้แจ้งรายชื่อ เพื่่อเป็นวิทยากรในการฝึกอาชีพสัญจรของ สพส. ส่วนประชาชนที่ต้องการฝึกอาชีพ ในเบื้องต้นสามารถใช้บริการได้ที่ศูนย์ฝึกอาชีพสังกัดสำนักงานเขตอีก 11 ศูนย์ และสังกัด สพส.มีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่งและศูนย์ฝึกอาชีพ 5 แห่ง ที่รองรับการฝึกอาชีพในสาขาต่าง ๆ และกระจายอยู่ในหลายพื้นที่

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.สำนักงานเขตปทุมวัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมหารือถึงการพัฒนาหลักสูตรใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรเดิมที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน รวมทั้งจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม สถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพในศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้ามารับการฝึกอาชีพ

สำหรับวิทยากรบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ สามารถสมัครเข้าเป็นวิทยากรสัญจรของ สพส.เพื่อเป็นวิทยากรสอนฝึกอาชีพในชุมชน หรือหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ การฝึกอาชีพที่เป็นภารกิจของ สพส.ได้ให้บริการในโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.ทั้งหมด 10 แห่ง และมีศูนย์ฝึกอาชีพฯ ซึ่งอยู่ในสังกัด สพส.และสังกัดสำนักงานเขตอีก 15 แห่ง กระจายให้บริการฝึกอบรมวิชาชีพในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต โดยเปิดฝึกอบรมวิชาชีพเช่นเดียวกับศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) ซึ่งในส่วนของโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.จะเปิดรับสมัครภาคเรียนที่ 3/2566 ในวันที่ 1 – 19 ธ.ค.66 เปิดการเรียนการสอนในวันที่ 20 ธ.ค.66 – 31 มี.ค.67 สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านช่องทาง www.bmatraining.ac.th หรือติดต่อโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.ทั้ง 10 แห่ง

 

 

ศตท.กทม.ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทุจริตแล้วเสร็จ 110 เรื่อง อยู่ระหว่างตรวจสอบขยายผลอีก 84 เรื่อง

นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สกก.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการทุจริตของบุคลากร กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริต (ศตท.กทม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนทุจริต ตั้งแต่เดือน ก.พ. –  ก.ย.66 จำนวน 250 เรื่อง แยกเป็น (1) ดำเนินการแล้วเสร็จและตอบกลับผู้ร้องเรียน จำนวน 110 เรื่อง (2) ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จำนวน 4 เรื่อง (3) ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) จำนวน 1 เรื่อง (4) อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ตามภารกิจด้านต่าง ๆ เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบขยายผล จำนวน 84 เรื่อง และ (5) ส่งต่อให้หน่วยงานดำเนินการในประเด็นร้องเรียนไม่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องทุจริต จำนวน 51 เรื่อง

ทั้งนี้ กทม.ไม่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา โดยในการจับกุมจึงต้องมีตำรวจจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยขั้นตอนการดำเนินการของ ศปท.กทม. เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องร้องเรียนแล้วจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ร้องเพื่อตรวจสอบ เตรียมข้อมูล และข้อกฎหมาย รวมทั้งประสานสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. เกี่ยวกับการลงพื้นที่ และเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว ผลเป็นประการใดจะดำเนินมาตรการทางการบริหารงานบุคคล เช่น ย้ายออกนอกพื้นที่ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยควบคู่ไปด้วย

นอกจากนั้น ศปท.กทม.ยังมีนโยบายในการประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด กทม.ตลอดจนเร่งตรวจสอบเรื่องทุจริตให้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมและได้แถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

 

 

เขตดินแดงซ่อมผิวจราจรชำรุดทางโค้งหน้าโรงเรียนปัญจทรัพย์

นายประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้อำนวยการเขตดินแดง กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนผิวจราจรในซอยโชคชัยร่วมมิตร ถนนวิภาวดีรังสิต 16 บริเวณทางโค้งหน้าประตูทางเข้าโรงเรียนปัญจทรัพย์ มีสภาพชำรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาตรวจสอบและซ่อมแซมถนนที่ชำรุดเป็นหลุม โดยเบื้องต้นได้แก้ไขชั้นผิวจราจรและนำแอสฟัลต์ผสมเสร็จบดอัดบริเวณทางโค้งหน้าประตูทางเข้าโรงเรียนปัญจทรัพย์ รวมถึงผิวจราจรที่ชำรุดบริเวณใกล้เคียง เพื่อเพิ่มความปลอดภัย นอกจากนั้น ได้กำชับเจ้าหน้าที่หมั่นสำรวจตรวจสอบดูแลพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับประชาชนที่ใช้เส้นทางในการสัญจร

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200