นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนกรุงเทพฯอีกครั้ง เมื่อกรุงเทพมหานครได้รับรางวัล Finalist – Best Performing Road Authority Eliminating High-risk Roads จากสถาบัน International Road Assessment Programme (iRAP) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกและหนึ่งเดียวจากเอเชียที่ได้รับรางวัลนี้ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของไทยที่ไปสู่ระดับสากล
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ดำเนินการเพื่อทำให้ถนนในกรุงเทพมหานครเป็นถนนปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเข้าร่วมโครงการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนน ตามมาตรฐานนานาชาติ (iRAP) รวมถึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการสอบสวนและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) เพื่อให้ผู้รับผิดชอบงานด้านอุบัติเหตุทางถนนทั้ง 50 เขต มีความรู้และทักษะในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวมไปถึงการเร่งแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจุดอันตราย รณรงค์กวดขันวินัยจราจรและการปรับปรุงทางด้านกายภาพได้ โดยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือการได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และการมีส่วนร่วมจากเจ้าหน้าที่ของ กทม. ทั้ง 50 สำนักงานเขต ที่ได้ร่วมกันผลักดันทำให้ภารกิจครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ iRAP เป็นหน่วยงานการกุศล (Registered Charity) ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศในกลุ่มยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 โดยร่วมงานกับองค์กรหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการกำหนดเกณฑ์นานาชาติเพื่อยกระดับถนนให้มีความปลอดภัยภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถเข้าใจตรงกันทุกประเทศ ในปัจจุบัน Road Assessment Programmes ได้ถูกนำไปใช้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยหลายหน่วยงานได้สนับสนุนก่อสร้างเส้นทางใหม่ หรือปรับปรุงเส้นทางเดิมให้มีค่า Star Rating ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป (3-star or better) ซึ่งแนวคิด Star Rating คือ การนำองค์ประกอบของถนน และสภาพการจราจรที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการบาดเจ็บสาหัสจากการชนในลักษณะต่าง ๆ ไปคำนวณเป็นคะแนนความเสี่ยง (Risk Score) ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และแบ่งระดับความเสี่ยงในลักษณะการให้คะแนนดาว (Star Rating) ตามเกณฑ์ของกลุ่มผู้ใช้ทางแต่ละประเภท ในทุก ๆ ระยะ 100 เมตรตลอดช่วงของถนน ผลลัพธ์ระดับความเสี่ยงดาว (Star Rating) สามารถใช้เป็นมาตรวัดระดับความปลอดภัยทางถนน โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ถนนที่ได้ 5 ดาวจัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยสูงสุด และถนนที่ได้ 1 ดาวจะเป็นถนนที่มีความปลอดภัยต่ำสุด ซึ่งมาตรฐานและค่าเป้าหมายของถนนที่ปลอดภัยที่นานาชาติยอมรับควรอยู่ที่ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ด้วยระบบของ iRAP จะสามารถแนะนำมาตรการปรับปรุงต่างๆ เพื่อถนนที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
สำหรับในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับ iRAP เมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อพัฒนา Thailand Road Assessment Programme หรือ ThaiRAP และผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยสู่ระดับสากล โดยกรุงเทพมหานครได้รับคำแนะนำด้านเทคนิคเกี่ยวกับความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ภายใต้โครงการ Bloomberg Initiative for Global Road Safety (BIGRS) และได้นำแนวคิดการประเมินความเสี่ยงตามมาตรฐาน iRAP มาประเมินถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ บราซิล และประเทศที่ได้รับรางวัลFinalist ร่วมกับกรุงเทพมหานคร คือ ออสเตรเลียและ โครเอเชีย
รายละเอียดเพิ่มเติม https://irap.org/2023/10/irap-announces-2023-gary-liddle-memorial-trophy-winners/
—————