รัฐพร้อมฟัง เสียงโพล2สื่อ

รองผู้ว่าฯกทม.ชี้แก้ปากท้องก่อน

ยันพร้อมรับฟังทุกความเห็น ‘รองนายกฯ สมศักดิ์’ชักชวนประชาชนร่วมโหวตโพลมติชน x เดลินิวส์ให้มากๆ เชื่อรัฐบาลได้ประโยชน์นำข้อมูลที่ได้มาช่วยเร่งแก้ปัญหา รองผู้ว่าฯ กทม.เสนอแก้ปากท้องก่อน เพราะปัจจุบันชาวบ้านประสบปัญหาหนี้สินครัวเรือนเป็นจำนวนมาก ด้านเลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือชื่นชม ชี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสะท้อนความเดือดร้อนเร่งด่วนที่เกิดขึ้น ส่งสัญญาณไปให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ไข สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ และแกนนำชาวสวนลำไยระบุปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขคือหนี้สินเกษตรกร

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการโหวตโพล มติชนxเดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ซึ่งเริ่มเปิดโหวตเมื่อวันที่ 1-31 ต.ค. โดยกองบรรณาธิการในเครือมติชนและเดลินิวส์ ได้ประมวลชุดคำถาม รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? แล้วนำมาให้ประชาชนร่วมโหวต ผ่านทางคิวอาร์โค้ดที่อยู่ในสื่อทั้ง 2 เครือทั้งหนังสือพิมพ์ 4 เว็บไซต์, เฟซบุ๊ก, เอ็กซ์ (ทวิตตอร์), ยูทูบ, อินสตาแกรม และติ๊กต็อก

สำหรับคำถามมี 2 หัวข้อใหญ่คือ 1.เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ประกอบด้วย 1.1 แก้รัฐธรรมนูญ, 1.2 ปฏิรูปกองทัพ, 1.3 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, 1.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, 1.5 รัฐสวัสดิการ และ 1.6 ปัญหาอื่นๆ

2.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ประกอบด้วย 2.1 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต10,000 บาท, 2.2 “แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนหนี้สาธารณะ, 2.3 แก้ปัญหาการเกษตร, 2.4 เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี, 2.5 ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน และ 2.6 ปัญหาอื่นๆ

หลังจากประชาชนโหวตโพลจนครบกำหนดถึงวันที่ 31 ต.ค.แล้ว ทั้งเครือมติชนและเดลินิวส์จะมีกิจกรรมเจาะลึกโพลของ มติชน-เดลินิวส์ ในเดือนพ.ย.โดยเชิญ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาร่วมวิเคราะห์ผลอย่างเป็นระบบ

วันเดียวกัน นางสาวทวิดา กมลเวชช รอง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการโหวตโพล มติชนxเดลินิวส์ ร่วมกันทำโพลสอบถามความเห็นประชาชน ว่า “อยากให้รัฐบาลเศรษฐา แก้ปัญหาอะไร ระหว่างปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม หรือปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง” ว่า ไม่รู้ว่าจะเหมาะสมในการโหวตหรือไม่ แต่อยากทำในมิติประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นเรื่องน่าสนใจมาก อยากรู้ว่าถามอะไร จึงโหวตเข้าไปก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว

ส่วนตัวมองว่าเลือกยาก ว่าอะไรควรทำก่อนหรือหลัง แต่ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องก่อน เพราะปัจจุบันประชาชนประสบปัญหาหนี้สินครัวเรือน ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ต้องใช้ระยะเวลา เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย การปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 3-4 ปี อาจจะได้เห็น แต่วันนี้ประชาชนมีหนี้สิน มีความเครียด หาทางออกไม่ได้ บ้านมีปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง อาชญากรรมเกิดขึ้น ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหามันไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งหามาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันใน ประเทศอื่นๆ เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนา (โควิด 2019) กันแล้ว ประเทศไทยจึงควรต้องฟื้นตัวด้วย

ขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคมด้วย เพราะต้องอาศัยโครงสร้างในการกระจายอำนาจให้พื้นที่ได้มีโอกาสเพื่อให้ท้องถิ่นมีโอกาสทำให้กลไกเศรษฐกิจปากท้องยั่งยืนด้วยตัวเอง หากแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอย่างเดียวไปแล้วแต่ไม่แก้การเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจะไม่ยั่งยืนดังนั้น สิ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องยั่งยืนคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย กล่าวกรณีเครือมติชน-เดลินิวส์ จัดทำโพลสำรวจความเห็น ระหว่างปัญหาเศรษฐกิจกับการเมือง อยากให้รัฐบาลแก้เรื่องไหนก่อนว่า เศรษฐกิจเกี่ยวกับปากท้องของ พี่น้องประชาชน ถ้าจะให้เลือกก็ต้องทำเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมก่อน ในส่วนปัญหาการเมืองเราแก้ตามทีหลังได้ แต่ในส่วนของวิธีการแล้วส่วนตัวคิดว่าทำพร้อมกันไปได้เลยเพราะว่าแยกส่วนกัน

ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน เยาวชน ทุกภาคส่วน ตลอดเดือนต.ค.นี้ พวกเราคนไทยช่วยกันโหวตผ่านเว็บไซต์มติชน-เดลินิวส์ จะได้รู้ว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาอะไรก่อน เพื่อให้รัฐบาลทำการบ้านตามโจทย์และเสียงข้างมากของพี่น้องประชาชน

ขณะที่นายธนพล ชารี ประธานชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นการเร่งด่วนก่อนวาระทางการเมือง

ชมรมซึ่งเป็นหนึ่งในชมรมวิชาชีพ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นตัวแทนของลูกจ้างเงินนอกงบประมาณที่มีกว่า 150,000 คน ทั่วประเทศยังขาดความมั่นคงในอาชีพการงาน ค่าตอบแทนที่ยังไม่มีความเป็นธรรม และยังมีความเหลื่อมล้ำในอีกหลายๆ เรื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในส่วนลูกจ้างสายวิชาชีพและสายสนับสนุนบริการก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วน

1.เร่งรัดการบรรจุข้าราชการรอบที่ 2 ของลูกจ้างสายสนับสนุนในสภาวะโควิดที่ผ่านมา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ 2.ดูแลความเป็นอยู่ของลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เรื่องค่าตอบแทน (ค่าจ้าง) ที่ไม่เป็นธรรมให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่นเพิ่มค่าตอบแทน เงินเดือนตามระยะเวลาการทำงาน 3.ยกเลิกการจ้างลูกจ้างรายวัน เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ ที่ไม่เท่าเทียมพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่เดียวกัน จึงฝากความหวังไปยังรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาปากท้องลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข

การแสดงความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ จึงขอฝากพี่น้องประชาชนมาร่วมทำโพลของโพลมติชน-เดลินิวส์ เพื่อสะท้อนและส่งเสียงของท่านไปยังรัฐบาลด้วยกัน

วันเดียวกัน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ในกรณีโพล มติชนxเดลินิวส์ ถามว่ารัฐบาลควรจะแก้ปัญหาใดก่อนกันระหว่าง เศรษฐกิจปากท้องหรือปฏิรูปการเมือง ตนเห็นว่าทั้งสองปัญหาควรแก้ไปพร้อมๆ กัน แต่ 9 ปี ที่ผ่านมาปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นมาก คนจนเยอะ คนขาดรายได้มานานเนื่องจากการรัฐประหาร วิกฤตเศรษฐกิจ จนมาถึงการเผชิญสถานการณ์ โควิด-19 รัฐบาลนี้กำลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขึ้นค่าแรง เพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้คนยากจน ประชาชนทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก ดังนั้น ไม่แก้เรื่องเศรษฐกิจคงไม่ได้ ช่วง 9 ปีที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องการเมืองที่เรามีประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว มีการให้อำนาจสว.เยอะเกินไป จุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มขึ้น ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่สำคัญพอๆ กัน ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญไม่มีอะไรก่อนหลังต้องไปพร้อมกัน

นายจะเด็จกล่าวต่อว่า 9 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นตามมาสูงมาก มีปัญหาเด็กและเยาวชน เราเห็นทั้งข่าวเด็กกราดยิง ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีเพิ่มขึ้นจนสังคมเคยชิน อยากให้รัฐบาลพูดเรื่องนี้หนักขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พูดถึงเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ควรทำให้ผู้หญิงได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรง ทำอย่างไรจะให้ผู้หญิงไม่ถูกทำร้าย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรแก้ด้วยเช่นกัน

อีกทั้งเดือนหน้าเป็นเดือนยุติความรุนแรงของผู้หญิง รัฐบาลควรจะออกมาพูดว่าจะมี นโยบายในเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลกำลังแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่มีภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมแก้ด้วย ควรเร่งรัดให้เสร็จโดยไว และเรื่องสุดท้ายที่อยากจะฝากคือสวัสดิการเรื่องการลาคลอดที่ควรจะเพิ่มขึ้น เรื่องศูนย์เลี้ยงเด็กที่ควรจะมี ในเมื่อรัฐบาลต้องการที่จะกระตุ้นการเกิดของประชากร จะใช้วิธีรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเพิ่มสวัสดิการด้วย หากค่าแรงเพิ่ม มีสวัสดิการที่ดี มีศูนย์เลี้ยงเด็กรองรับ คนต้องการจะมีลูกแต่รัฐบาลไม่มีสวัสดิการที่ดีให้

“การที่เครือมติชนและเดลินิวส์ทำโพลนี้ขึ้นมา เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นการกระตุ้นรัฐบาลให้เห็นว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร หากคนมาลงความเห็นเยอะๆ รัฐบาลจะได้เห็นว่ามีปัญหามากมายที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำให้รัฐบาลทราบว่าจะเดินไปทางใดจึงจะถูกต้อง อยากให้ช่วยกันโหวตโพล มติชนxเดลินิวส์เยอะๆ ครับ” นายจะเด็จกล่าว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำโพลนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาล หลังจัดตั้งรัฐบาลมาได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลก็ได้เริ่มเดินหน้าทำงาน และเร่งจัดทำนโยบายด้านต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เราก็ยังต้องการคำถามสะท้อนจากสังคมไทยว่า ควรแก้ปัญหาอะไรอีกบ้าง เนื่องจากปัจจุบันก็มีหลากหลายปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศ ตนจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาร่วมโหวต โพลมติชนx เดลินิวส์ เพื่อตอบคำถามว่า ท่านรู้สึกว่าเรื่องไหนสำคัญมากกว่ากันหรือสำคัญเท่าๆ กัน เพื่อเป็นข้อมูลและเสียงสะท้อนกลับมาในการช่วยเร่งแก้ปัญหาที่เร่งด่วนให้กับประชาชน

“คงต้องขอบคุณเครือมติชน และเครือ เดลินิวส์ ที่เปิดช่องทาง ให้ประชาชนได้สะท้อน ความคิดเห็น และใช้ สื่อออนไลน์ของตนเอง ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังทุกความเห็น ทุกข้อมูลที่ประชาชนเสนอมา เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานและเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการลดความเดือดร้อนและพัฒนาประเทศให้ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายธีระชาติ เสยกระโทก เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนช่วยกันสะท้อนความเดือดร้อนเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งสัญญาณไปให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เร่งแก้ไข โดยปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการก่อน คือปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง เพราะตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนกันอย่างมาก เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ต้องเร่งแก้ไขก่อน ปัญหาปากท้องสามารถจะบานปลายเปิดช่องให้คนไม่หวังดีจุดชนวนชักชวนประชาชนไปรวมตัวปลุกกระแสเรียกร้องได้ ถ้ารัฐบาลทำให้ประชาชนมีอยู่มีกิน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องได้ สังคมจะสงบขึ้น

“การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ควรเริ่มจากปรับลดค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าน้ำมันก่อน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ทุกครัวเรือน และ

น้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคการเกษตรด้วย ถ้าราคาน้ำมันถูกลง ต้นทุนการผลิตจะลดลงด้วย จะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างมาก แม้ช่วงนี้ราคาพืชผลเกษตรจะขายได้ราคาค่อนข้างดี แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงนานแล้วมาเจอฝนตกต่อเนื่อง ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายอีก ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ราคาขายจึงสูงขึ้นตามกลไกตลาด แต่ถ้าปล่อยให้ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ยและยาแพงอยู่ ต้นทุนการผลิตก็สูงขายได้ราคาดีแต่แทบไม่เห็นกำไร จึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าลดค่าไฟ ค่าน้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชนก่อน

นอกจากนี้ เรื่องหนี้สินครัวเรือนก็สำคัญ มีจำนวนมากที่เป็นหนี้นอกระบบ ถูกตามทวงหนี้ทุกวัน ซึ่งคนไม่มีรายได้ ไม่มีเครดิต จำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบมาใช้จ่าย เป็นช่องว่างให้นายทุนเอาเปรียบประชาชนที่กำลังเดือดร้อน เกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา ส่วนเรื่องยกระดับรายได้ให้เกษตรกร ยังไม่ต้องพูดถึง เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐแทบไม่ช่วยอะไร เกษตรกรที่ไม่มีเงินทุน ต้องทนปลูกพืชบนดินที่เริ่มเสื่อมโทรม ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะได้ผลผลิตไม่ดี หน่วยงานรัฐไม่ยื่นมือเข้าไปตรวจวัดค่าดินหรือดูแลช่วยเหลือเท่าที่ควร เกษตรกรต้องช่วยตัวเอง จึงมองว่านโยบายแก้ปัญหาเกษตรด้วยการช่วยยกระดับผลผลิตคงจะทำได้ช้า เพราะปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข และเรื่องลดราคาปัจจัยการผลิตยังไม่คืบหน้า” นายธีระชาติกล่าวและว่า

ส่วนเรื่องพักชำระหนี้ รัฐบาลควรหันไปผลักดันเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธ.ก.ส.และสถาบันการเงินต่างๆ ก่อน เพราะจะช่วยเหลือได้ครอบคลุมกว่า เนื่องจากในจังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรที่สามารถ เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ได้ประมาณ 110,000 คนเท่านั้น ยังเหลือเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. อีกนับล้านคนที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะติดเงื่อนไขต้องเป็นเกษตรกรที่มีหนี้สินไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้น หากรัฐบาลจะช่วยเหลือเรื่องพักชำระหนี้จริงๆ ควรกำหนดกรอบมูลหนี้ให้สูงขึ้น เกษตรกรที่เหลือจึงจะได้รับอานิสงส์จากการพักชำระหนี้ โดยสรุปคือ รัฐบาล “เศรษฐา” ควรเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องก่อน โดยให้กระทรวงพลังงานปรับลดค่าไฟค่าพลังงานเชื้อเพลิงลงให้ได้ก่อน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้ได้ ส่วนกระทรวงการคลังไปพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทุกๆ เหตุผลที่ตนและประชาชนช่วยกันสะท้อนผ่านโพลครั้งนี้ รัฐบาลจะรับฟังผลโพลสำรวจแล้วนำไปประกอบเป็นแนวทางแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามกันต่อไป

ที่จ.เชียงใหม่ นายบัญชาการ พลชมชื่น สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ และแกนนำชาวสวนลำไย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลแก้ไข คือหนี้สินเกษตรกร แม้ขณะนี้รัฐบาลเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ แต่ต้องมีมูลหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 3 แสนบาท รวมทั้งเงื่อนไขปลีกย่อยอีกหลายข้อที่เป็นอุปสรรคทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ ต้องยอมรับว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เกิน 3 แสนบาท บางรายมีหนี้หลักล้านบาท เนื่องจากมีหลายบัญชีจนกลายเป็นดินพอกหางหมู เป็นวัฏจักรหนี้ไม่สิ้นสุด ต้องกู้เงินมาเป็นทุนหมุนเวียน เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรผันผวน บางปีราคาตกต่ำจนเกษตรกรขาดทุนซ้ำซาก

“รัฐบาลควรปลดล็อกเงื่อนไขช่วยเหลือ เกษตรกรที่เป็นหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่มีหนี้เกิน 3 แสนบาท ขณะเดียวกันต้องเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และได้ลงทะเบียนใช้สิทธิกับกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้รัฐบาลซื้อหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุน และให้เกษตรกรชำระหนี้กับกองทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่จ.เชียงใหม่ มีเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้มากกว่า 1.2 แสนรายกำลังรอความหวังจากรัฐบาลชุดใหม่” นายบัญชาการกล่าว

ที่จ.สมุทรสงคราม น.ส.ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ที่มติชนและเดลินิวส์จับมือกันจัดทำโพล สำรวจความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องที่ดีมากที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชน ให้รัฐบาลได้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไรให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตนคิดว่าปัญหาแร่งด่วนที่รัฐบาลควรแก้ไข คือปัญหาปากท้อง ดูแลค่าครองชีพ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส อย่าให้ราคาสูงขึ้น เพราะประชาชนผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ดูแลประคองค่าใช้จ่ายของสินค้าที่ใช้ประจำวันให้ปรับตัวช้าที่สุด จะทำให้ประชาชน ผู้ประกอบการประคองตัวไปได้ ส่วนข้อแนะนำอื่นๆ ภาครัฐควรปรับเปลี่ยนการบริหารหน่วยงานของรัฐ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดจำนวนบุคลากรให้น้อยลง สิ่งไหนที่เคยมีแนวคิดไว้ว่าจะ Outsource โอนถ่ายงานในกระบวนการทำงานบางส่วน หรือทั้งหมดให้หน่วยงานภายนอก ที่เชี่ยวชาญและชำนาญเฉพาะด้านรับผิดชอบ ทำแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานลดระยะเวลาในการยื่นขออนุญาตต่างๆ

“ส่วนค่าแรง ผู้ประกอบการขอให้ขยับแบบค่อยเป็นค่อยไป ขอให้ฟังคณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัด เพราะจะมีประสิทธิภาพในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว เขารู้ว่าค่าจ้างควรปรับอย่างไร ขอให้เคารพมติของคณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดด้วย” น.ส.ตวงคุณกล่าว

ที่จ.แม่ฮ่องสอน น.ส.วจี แสงทอง อายุ 32 ปี ชาวไทใหญ่ บ้านปางหมู ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาหลายปีติดต่อกัน ทำให้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แม้เป็นลูกจ้างของรัฐกินเงินเดือนเพียงแค่ 6,000 กว่าบาท แต่มีปัญหาค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แต่ละวันต้องเลี้ยงลูก 3 ขวบ 1 คน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ข้าวสาร พืชผัก หมู ปลา ล้วนแต่มีราคาแพงขึ้น และไม่มีแนวโน้นว่าราคาจะลดลงอยากให้รัฐบาลเศรษฐาเร่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นการด่วน ทั้งการลดราคาสินค้าอุปโภค บริโภค การลดค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระมากขณะที่หน่วยงานกลับได้โบนัสในแต่ละปีจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับชาวบ้าน

นางสุทิน ชาติพุดซา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.นครราชสีมา และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีโคราช เปิดเผยว่า การทำโพลครั้งนี้เป็นเรื่องดี ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนท้องถิ่นเปรียบเสมือนคนไกลปืนเที่ยงและเป็นเสียงนกเสียงกาได้สะท้อนปัญหาความต้องการให้รัฐบาลรับทราบข้อเท็จจริง ตนมีภารกิจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบประชาชนที่อยู่ชายขอบเมืองโคราชกว่า 10,000 คน เลือกการแก้ปัญหาปากท้อง และความเสมอภาคของสตรีเท่าเทียมทั่วประเทศไทยให้การดูแลเช่นเดียวกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ขอให้รัฐบาลสนับสนุนบทบาทขององค์กรสตรี โดยเฉพาะสวัสดิการดูแลค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยเหมือนอสม. เนื่องจากองค์กรสตรีเป็นกลุ่มจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนมีบทบาทหน้าที่ดูแลประสานงานกับประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนสิ้นอายุขัย

นอกจากนี้ ขอเชิญชวนบุคลากรในสังกัดรวมทั้งผู้นำชุมชนและประชาชนในท้องที่ร่วมกันทำโพล เพื่อสะท้อนปัญหาความต้องการไปถึงรัฐบาลให้ได้รับการแก้ไขเป็นรูปธรรม

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 9 ต.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200