“ชัชชาติ” สั่งปรับแผนดูแลสุขภาพจิต ปชช.-เด็กเยาวชน เน้นแก้ปัญหา ที่ต้นเหตุ! ไม่ใช่เน้นแจ้งเหตุ เผย จิตแพทย์กทม.มีแค่ 24 คน ต้องเพิ่ม/ ให้มีนักจิตวิทยาในรร.ด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลัง การประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2566 ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง จากประเด็นเหตุยิงที่พารากอน ว่า มี 3 เรื่อง ที่ต้องดำเนินการ คือ 1.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุในกรุงเทพฯ เราเป็น ผู้บริหารต้องรู้ข้อมูล หลักการคือให้ ผู้อำนวยการเขตในพื้นที่เป็นผู้อำนวยการ เหตุแม้จะไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ กรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องอาชญากรรม หรือเรื่องอื่น แต่ผู้อำนวยการเขตต้อง เป็นผู้รวบรวมข้อมูลประสานผู้เกี่ยวข้อง และรายงานผู้บริหารรับทราบ 2.ระบบการเตือนภัย กรุงเทพมหานครจะทำในเบื้องต้นที่อยู่ในขอบเขตของเรา คือ LINE ALERT ที่ทำอยู่ปัจจุบันเฉพาะเรื่องภัยพิบัติที่ได้ผลดีเรื่องฝุ่น PM2.5 อาจทำเรื่องน้ำท่วมเพิ่มเติม รวมถึงจะเพิ่มเรื่องอุบัติเหตุหรือ เหตุการณ์ต่างๆ เข้าไปด้วยจะได้หรือไม่ ก็ให้ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ไปดู อีกส่วน คือ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) เรามีโครงการที่จะสื่อสารข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้น ก็ให้ทางผู้สร้างระบบพัฒนาแอปพลิเคชั่น ภายใน 7 วัน ให้สามารถแจ้งเหตุกับผู้ที่เลือกรับข้อมูลได้ น่าจะเห็นผลใช้งานแจ้งเหตุประชาชนได้ใน 7 วัน
ส่วนการสร้างระบบเตือน นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า จะมี 2 ส่วน คือ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดูแล ซึ่งได้มีการทำงบประมาณเพื่อจัดทำระบบแจ้งเตือนในพื้นที่ทั่วประเทศ จุดประสงค์หลักจะเป็นเรื่องสาธารณภัยที่เป็นภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ ซึ่งหากเป็นเหตุฉุกเฉิน อื่นๆ ก็จะต้องประสานให้หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ หน่วยงานที่ดูแลรวมถึงเจ้าของอาคารและ พื้นที่สำคัญเข้ามารวมอยู่ด้วย ซึ่งได้ประสานไปทาง ปภ.เพื่อคุยในรายละเอียดแล้ว อีกส่วนคือ ประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในความร่วมมือแจ้งข้อมูลผ่านเครือข่าย ซึ่งได้มีการหารือกันตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีและที่เชียงใหม่-ลำปางที่ผ่านมา เพื่อจะนำข้อมูลแจ้งเหตุผ่าน LINE ALERT หรือ LINE OA ของกรุงเทพมหานคร โดยนัดหารือ รายละเอียดในสัปดาห์หน้า
ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3.การดูแลที่ต้นเหตุของปัญหา ปัจจุบันมีประชาชนหรือเด็กเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างมาก กรุงเทพมหานครจะปรับแผนดำเนินการใน 2 ส่วน คือ การให้บริการเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันเรามีกำลังค่อนข้างจำกัดมีอัตรากำลังน้อย สำนักการแพทย์ มีจิตแพทย์ 23 คน สำนักอนามัยมี 1 ขณะที่ผู้ป่วยเอง ก็ไม่อยากเข้ามาโรงพยาบาล ก็ต้องปรับให้การ ให้คำแนะนำต่างๆ กระจายลงไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และให้ความรู้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ให้มากขึ้น แผนระยะยาว ต้องปรับอัตรากำลังให้เหมาะสม รวมถึงให้มี นักจิตวิทยาให้คำแนะนำในโรงเรียนด้วย อีกส่วน คือ โรงเรียน เพราะเป็นที่ที่จะเห็นเหตุการณ์และเข้าใจนักเรียนได้หากเจอปัญหาจะได้รีบคัดกรอง สิ่งสำคัญเราต้องเข้าใจความรู้สึกของเด็กก่อนจึงจะแก้ปัญหาให้ได้ ไม่แค่ภาครัฐให้ภาคประชาสังคมมาร่วมด้วย นำแอปพลิเคชั่น มาใช้ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ จัดดนตรีในสวน จัดพื้นที่สาธารณะให้แสดงออก ก็เป็น ส่วนหนึ่งจะช่วยลดความเครียด ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ต้องรีบลงไปดูเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ให้รอให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ ปัจจุบันสำนักการศึกษาได้นำแอปพลิเคชั่น Buddy เข้าไปใช้ในโรงเรียนกทม. พบว่าข้อมูลที่ส่งจากคุณครูความเชื่อใจจากเด็กจะน้อย บางคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะเชื่อเพื่อนเชื่อเครือข่ายมากกว่า เราอาจจะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าหาเด็กนักเรียน โดยในวันอาทิตย์นี้จะมีงานใหญ่ เรื่องสุขภาพจิต ซึ่งกทม.จะได้คุยกับทาง แอปพลิเคชั่น รวมถึงกรมสุขภาพจิตด้วย ในความร่วมมือจากภาคประชาสังคมเป็น ทัพหน้าและภาครัฐหนุนเสริม ช่วยกันแก้ปัญหา อย่างยั่งยืน
สำหรับงาน Better Mind Better Bangkok 2023 จะจัดในวันอาทิตย์ที่ 8 ต.ค. 2566 ที่ Samyan Mitrtown ชั้น 3 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป รวมบุคคลเปี่ยมประสบการณ์และเป็นแรงบันดาลใจในแวดวงสุขภาพจิต เช่น รศ.ทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. เขื่อน-ภัทรดนัย อแมนด้า ออบดัม รัศมีแข นที เอกวิจิตร์ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ และอีกมากมาย ร่วมเสวนา และมินิคอนเสิร์ตจาก 6 สาว IndyCamp
บรรยายใต้ภาพ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 6 ต.ค. 2566