สสส. ดึงภาคีเครือข่าย “สร้างพื้นที่สุขภาวะ” ใกล้บ้าน เพื่อทุกคน ทุกวัย

ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยังคงเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิต คนทั่วโลกสูงกว่าโรคร้ายแรง ประเทศไทย พบผู้ป่วยถึงปีละ 14 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องเสียชีวิตกว่า 3 แสนคน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในภาคีหลักที่ขับเคลื่อน การส่งเสริมสุขภาพของคนในประเทศมาตลอด 10 ปี จับมือภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย EP1 : พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม : Active Environment for All ขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่ายและสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย

น.ส.นิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สสส. และประเทศไทยมีความ พยายามในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะและการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรทุกกลุ่มวัย ผ่านยุทธศาสตร์ 3 Active ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานระดับสากลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบด้วย 1. Active Environment ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย 2. Active People ส่งเสริมให้บุคคลมีความกระฉับกระเฉง และ 3. Active Sociality สร้างค่านิยมสังคมกระฉับกระเฉง ทั้งหมดนี้จะเกิดเป็น ‘Active System’ ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม 4 มิติ คือ สุขภาพกาย จิต ปัญญาและสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดการประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย ครั้งที่ 1 โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจจากภาคนโยบายและภาคประชาชน คือ การสร้างพื้นที่สุขภาวะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ เอื้อต่อการขยับร่างกาย จึงนำมาสู่การต่อยอดจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงลึก ประสบการณ์และสานพลังภาคีในวงกว้าง ไปจนถึงการขับเคลื่อนระดับนโยบายเพื่อเพิ่มพื้นที่กิจกรรม ทางกายที่เพียงพอสำหรับทุกคนและทุกช่วงเวลาของชีวิต

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สังคมก้มหน้าในปัจจุบันทำให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งทั้งในเด็ก คนทำงาน และคนสูงวัย ส่งผลเสียต่อสุขภาพรุนแรงมากกว่าที่เราทุกคนจะคาดถึง หรืออาจเทียบเท่าอันตรายจากการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ ข้อมูลสุขภาพคนไทยย้อนหลัง 15 ปี พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการสวนหัวใจเพิ่มขึ้น 3 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าเช่นกัน ข้อมูลจากสหประชาชาติ ระบุว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 30 – 70 ปี สูงถึงร้อยละ 74 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สสส. ดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง เรื่องวิชาการที่พร้อมเป็นผู้สนับสนุนองค์กรต่างๆ ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เรื่องเชิงนโยบายที่รัฐบาลกำหนด และเรื่องการสานพลังภาคประชาสังคม โดยพบว่าประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสุดโต่ง จะเห็นได้จากคนในเมืองใหญ่ที่อยากมีสุขภาพดี สามารถเสียเงินค่าสมัครห้องออกกำลังกายได้ แต่คนหาเช้ากินค่ำไม่มีสิทธิได้ทำ

“เรื่องความเหลื่อมล้ำจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก ที่ผ่านมา เราทำดีแล้วแต่ต้องเร่งมือขึ้นอีก ประเด็นหลักๆ ที่ต้องเพิ่มอัตราเร่ง คือ 1. สานต่อในเชิงนโยบายของท้องถิ่นที่มีงบประมาณและมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยการนำความรู้เรื่องสุขภาวะสู่ประชาชนภายใต้อัตราเร่งที่เร็วขึ้น นอกจากนั้น จะต้องขับเคลื่อนให้นโยบายท้องถิ่นไปถึงทุกคนได้จริง ไม่ว่าจะคนมีฐานะหรือคนจนรอบเมือง คนหาเช้ากินค่ำที่มาอยู่ในเมือง และ 2. เพิ่มอัตราเร่งในการสานพลังจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นภารกิจ ของ สสส. โดยแท้จริง เพื่อให้คำว่า For All เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ลดความเหลื่อมล้ำและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวในช่วงหนึ่งของปาฐกถาพิเศษ ‘นโยบาย ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของ สสส. จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะอย่างยั่งยืน’ ว่า พื้นที่สุขภาวะเป็นปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อสุขภาพ เป็นทุกๆ แห่งที่คนเราใช้ดำรงชีวิต ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ต้องเอื้อต่อการใช้ชีวิต ทำให้คนเข้าถึงสวนสาธารณะ ให้คนลุกขึ้นขยับร่างกายมากขึ้น การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะภายใต้การ ขับเคลื่อนงานของ สสส. ในอดีตที่ผ่านมา การปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้ปลอดภัยและส่งเสริมพื้นที่เชิงสร้างสรรค์อย่างคุ้มค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน เช่น เพชรบุรีดีจัง ลานวัฒนธรรมชุมชน Creative Community Center เพลินจิต จากนั้น ก็ได้นำองค์ความรู้มาต่อยอด สู่ปัจจุบัน ที่ สสส. เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ในรูปแบบ ‘ย่าน’ โดยที่สำเร็จมาแล้วอย่าง ‘ย่านจีน ถิ่นบางกอก’ชุมชนตลาดน้อยที่มีเอกลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและ ชาวต่างชาติได้อย่างมาก ‘สวนสาธารณะเบญจกิติ’ ที่พัฒนาโดย การศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเพื่อปรับปรุงสวนให้เข้ากับการใช้งาน และการพัฒนา ‘ฐานข้อมูลเชิงวิชาการพื้นที่สุขภาวะ’ คลังข้อมูล พื้นที่ทั่วประเทศที่ประชาชนสามารถเข้าไปออกกำลังกายได้

“โจทย์ในอนาคต เราอยากเห็นพื้นที่สุขภาวะที่เกิดจากการทำงานอย่างมีส่วนร่วม รองรับความหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงใน หลายมิติ โดย 6 เรื่องหลักที่ต้องทำ คือ 1. การสร้างพื้นที่ชุมชนให้เป็นความสุขมวลรวม 2. เกิดความร่วมมือในชุมชนเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน 3. ออกแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและดูแลสิ่งแวดล้อมรอบข้าง 4. การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ 5. การทำเกษตร ในเมืองเพราะคนเราต้องมีอาหาร แม้ในเมืองมีพื้นที่น้อยแต่ก็สามารถดัดแปลงทำเกษตรได้ และ 6. เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างศิลปะ วัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่กายภาพ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า องค์การอนามัยโลกได้ประเมินความท้าทายในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะบนความยั่งยืนของประเทศไทย พบว่ามี 3 เรื่องที่เราต้องรับมือ คือ 1. บูรณาการนโยบายผังเมืองและคมนาคม 2. ปรับปรุงความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และ 3. พัฒนา เส้นทางเดินเท้าและพื้นที่ปั่นจักรยานอย่างครอบคลุม ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ยาก แต่หากเราต่อจิ๊กซอว์ 3 ชิ้น คือ นโยบาย วิชาการ และสังคมได้ก็จะเกิดเป็นมิติสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่สามารถขับเคลื่อน งานไปได้

และ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร (นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม) กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมสุขภาพชาวกรุงเทพฯ ว่า นโยบายสำคัญของท่านผู้ว่า ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ คือสวน 15 นาที ใกล้บ้าน หรือ Pocket Parks สวนที่ปักหมุด 800 เมตรจากชุมชน ซึ่งตรงกับแนวคิดการสร้างพื้นที่สุขภาวะของ สสส. ในการ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสวนสาธารณะให้มากที่สุด โดย กทม. จะเป็น ผู้สนับสนุนชุมชนต่างๆ ร่วมกันออกแบบสวนใกล้บ้าน เพื่อให้ ‘ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน’ โดยมีสำนักงานเขตเข้าไปอำนวย ความสะดวก ในขณะที่ สสส. ก็เข้ามาสนับสนุนการสร้างความรู้ ให้กับบุคลากรของสำนักงานเขตต่างๆ เพื่อมีแนวทางในการเข้าไป ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบัน กทม. มีสวน 15 นาที เกือบ 50 แห่ง และมีที่รอพัฒนาต่อ 147 แห่ง เป็นพื้นที่รวมเกือบ 800 ไร่ ทั่วกรุงเทพฯ หนึ่งในสวนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก’สวน 15 นาที หลังตลาดแสงจันทร์’ พื้นที่ชุมชนใจกลางเมืองสาทร แต่ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างสวนสาธารณะ จนเกิดเป็นจุดพักผ่อนของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีนโยบายออกมาก็พบว่าประชาชนเข้าถึงสวนใกล้บ้านได้มากขึ้นเป็นร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 20 นับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการขยับเป้าหมาย ในอนาคตให้มากกว่าร้อยละ 50

ภายหลังจากงานเสวนามีการเปิดตัวคู่มือการจัดกิจกรรม “WalkShop : เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Active Meeting” ชุดเครื่องมือสำหรับหน่วยงาน องค์กร สำหรับการจัดประชุมเพื่อ ส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้ “การเดินประชุม” ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและหยิบจับเอาความคิด หรือไอเดียใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการ เดินพูดคุย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างการประชุมด้วย

 

บรรยายใต้ภาพ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

นิรมล ราศรี

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200