ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วันนี้ (4 ต.ค.66) ซึ่งมีนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม : นายวิพุธ ศรีวะอุไร สก.เขตบางรัก เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉิน Emergency Alert System หรือ EAS
สก.วิพุธ กล่าวว่า สิ่งที่จะเพิ่มโอกาสการเอาชีวิตรอดคือการสื่อสารข้อมูลให้กับประชาชนอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ที่ผ่านมาพบว่าระบบแจ้งเตือนภัยที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เป็นการแชร์ข้อมูลผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ของรัฐทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูล และเกิดปัญหาตามมา อาทิ กรณีเหตุไฟไหม้ที่เซ็นทรัลเวิล์ด ประชาชนไม่รับทราบเหตุและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลเสียจากการแจ้งเตือนภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1.ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่ทราบข้อมูลและยังใช้ชีวิตตามปกติและไม่หลีกเลี่ยงพื้นที่เกิดเหตุ
2.ทำให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการเข้าถึงพื้นที่ล่าช้า (Response Time)
3.อัตราความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น
4.สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อนักท่องเที่ยวและนักลงทุน
“ในประเทศเกาหลีใต้มีการแจ้งเตือนในหลายด้านซึ่งมีประสิทธิภาพมาก และเป็นข้อมูลที่ส่งจากรัฐบาล ผ่านการพิจารณาจากท้องถิ่นและหน่วยงานที่ดูแลภัยพิบัติส่วนกลาง มีความถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริงและมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ ในส่วนของกทม.ข้อมูลคร่าว ๆ ที่ส่งอาจเป็นสถานการณ์ ตำแหน่ง สถานที่ ข้อแนะนำ และเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน ควรเป็นแจ้งแบบ Realtime โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นในการเผยแพร่ให้ครอบคลุม เช่น จอLED ห้างสรรพสินค้า รถโดยสาร รถไฟฟ้า เป็นเรื่องที่กทม.ทำได้เลย และไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก” สก.วิพุธ กล่าว
ทั้งนี้ มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมอภิปรายและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สก.เขตทุ่งครุ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สก.เขตคลองสาน นายเอกกวิน โชคประสพรวย สก.เขตราชเทวี
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่แผ่นดินไหว และในส่วนของกทม.ก็มีการแจ้งเตือนในเรื่องฝุ่นPM2.5 ผ่านระบบ Line Alert แล้ว ต่อไปจะหารือกับบริษัทLine เพื่อขยายการให้บริการให้มากขึ้น รวมถึงจะมีการปรับปรุงTraffy Fondueให้มี Feature เป็นลักษณะการสื่อสารมากขึ้น
จากนั้น รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลการดำเนินการของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับระบบแจ้งเตือนภัยที่พัฒนาอยู่ในปัจจุบัน และที่ประชุมสภากทม. มีมติเห็นชอบและจะส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป
—————————-