‘ชัชชาติ’ลั่น!พร้อมจ่ายค่าE&M วงเงิน 2.28 หมื่นล.ให้ BTS ภายใน 2-3 เดือน

มท.1 ถกผู้ว่ากทม.เร่งเคลียร์ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว “ชัชชาติ” คาดได้ชำระหนี้ค่าจ้างงานติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) วงเงินประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาทแก่ BTS ภายใน 2-3 เดือนหลังสภากทม.ให้ความเห็นชอบ

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างสภา กทม . พิจารณารายละเอียดต่าง  ๆ พอสภากทม.มีข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะนำข้อสรุปดังกล่าวแจ้งกระทรวงมหาดไทย จากนั้นจะมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยและเดินหน้าต่อไป

ส่วนเรื่องคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ที่ให้ฝ่ายรัฐเจรจาต่อสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ให้เดินรถแบบไร้รอยต่อนั้น ก็ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยก่อนว่าควรดำเนินการอย่างไร จากนั้นกระทรวงมหาดไทยจะเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า  ในส่วนเรื่องการชำระเงินให้ BTS นั้น เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา ทางกทม.น่าจะชำระได้ทั้ง 2 ส่วน คือ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) แต่ต้องเสนอให้สภากทม.อนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีงบผูกพัน ใช้เงินสะสมที่เหลือจ่ายขาด ดังนั้น ต้องถามสภา กทม . ว่ามีความเห็นอย่างไร ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนในส่วนแรกที่เป็นหนี้ค่าจ้าง E&M กทม.น่าจะสามารถชำระให้ BTS ได้ใน 2-3 เดือน

“คิดว่าส่วนแรกน่าจะจ่ายได้ใน 2-3 เดือน คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเงินมี ขึ้นอยู่กับการอนุมัติตามขั้นตอน ทุกอย่างต้องตามกฎหมาย ถ้าไม่ตามกฎหมายก็ไปไม่ได้ ต้องแยกเป็น E&M และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ต้องวิเคราะห์ว่าอันไหนรับได้ รับไม่ได้ ราคาเท่าไรเหมาะสม ซึ่งมีผลการศึกษาอยู่ เราเป็นตัวแทนประชาชน และเงินก็ไม่ใช่เงินส่วนตัว ต้องทำให้ถูกกฎหมาย” นายชัชชาติ กล่าว

ส่วนเรื่องการขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระในส่วนของค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้านั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ครั้งที่แล้วเป็นการขอรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบัน คงจะมีการทำข้อเสนอไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง ด้านส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่ตอนนี้ยังไม่เก็บค่าโดยสารนั้น ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องมีการพิจารณา ซึ่งคงไม่เก็บค่าโดยสารแบบไม่มีที่สิ้นสุด

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เป็นเรื่องที่ต้องหารือในช่วงเวลาต่าง ๆ เพราะมีหลายขั้นตอน โดยกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ตอบสนอง กทม . ทุกอย่าง ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อย่างไรก็ดี ถ้าทุกอย่างมีความชัดเจน ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นตอนไม่มีข้อติดขัดใด ๆ มหาดไทยพร้อมเร่งรัดแก้ปัญหาให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งต้องไปเคลียร์ทุกประเด็นให้หมดก่อน เพราะเคยมีปัญหา ถ้าเราทำอะไรในขณะที่มีการร้องเรียน มีการชี้มูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรอิสระ ต้องเคลียร์ให้ขาดก่อน ไม่เช่นนั้นก็ไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าค่าจ้างงาน E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 มีมูลค่าประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา BTS ได้บันทึกรับรู้รายได้งาน O&M และ E&M ตามงวดงานไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากกทม.ชำระค่างาน E&M มาจริงก็จะช่วยเสริมในเรื่องของกระแสเงินสดที่จะมีสภาพคล่องมากขึ้น ส่วนงาน O&M นั้นยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งต้องรอให้คดีสิ้นสุดก่อน

อย่างไรก็ตาม บล.ฟิลลิปฯ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BTS โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 8.90 บาท เนื่องจาก BTS ยังมีปัจจัยหนุนชัดเจนจากบริษัทที่เข้าไปลงทุน เช่น บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ที่มีอัตราการใช้สื่อดีขึ้น, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ซึ่ง BTS ถือหุ้นอยู่ประมาณ 33% ที่เริ่มปันผลกำไรแก่ผู้ถือกองทุนแล้ว จากที่ผลประกอบการขาดทุนในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด

นอกจากนี้การที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดบริการแล้ว รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่เตรียมจะเปิดบริการตามมานั้น จะทำให้ BTS ได้รับเงินชดเชยค่าก่อสร้างจากภาครัฐประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี (สายสีเหลือง 2.51 พันล้านบาทต่อปี และสายสีชมพู 2.25 พันล้านบาทต่อปี) ซึ่งจะช่วยมาเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทเช่นกัน ส่วนจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 คนต่อวัน ซึ่งหากจะถึงจุดคุ้นทุนต้องเฉลี่ยไม่ต่ำ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาของกรมการขนส่งทางรางพบว่าอัตราผู้โดยสารจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จึงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 3 ต.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200