สก.ยานนาวา หนุนใช้รถขยะไฟฟ้า เดินหน้าพลังงานสะอาด พร้อมถามแผนแก้ปัญหากรณีหารถเช่าเก็บขนขยะล่าช้า
ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุม สภาฯ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง ในการพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบกับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณและการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ในที่ประชุมได้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ได้สอบถามถึงความคุ้มค่าโครงการเช่ารถไฟฟ้าเก็บขนมูลฝอย กับการซื้อรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ได้ตั้งกระทู้ถามสด เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีเกิดความล่าช้าในการเช่าเหมารถเก็บขนมูลฝอยของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า ล่าสุดเลขาธิการสหประชาชาติออกมาประกาศว่าขณะนี้ภาวะโลกร้อนหมดแล้ว ตอนนี้กำลังเป็นภาวะโลกเดือด มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ทำให้เกิด PM2.5 ถึงเวลาที่ภาครัฐและเอกชน รวมถึงกทม.ต้องตื่นตัว และถึงเวลาที่ต้องรณรงค์สนับสนุนการเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมองทั้ง 2 มุม การจะนำรถขยะไฟฟ้าหรือรถขยะน้ำมันมาใช้ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของ ประชาชน ทั้งนี้ นายพุทธิพัชร์ได้อภิปราย ถึงความคุ้มค่าอ้างอิงผลการศึกษาทดลองโดยสถาบันวิจัยและบริการ วิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราชูทิศ ทดสอบวิ่งในเขตดุสิต ข้อมูลพบว่ารับน้ำหนักได้ 5-6 ตัน มีที่เก็บน้ำด้านล่างและการบีบอัดซึ่งยังไม่มั่นใจในความแข็งแรงของการการบีบอัด แต่อย่างน้อยสิ่งที่มั่นใจได้คือ เป็นการทดสอบโดยยึดหลัก ISO 14067 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งมีการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์และคาร์บอนเครดิตที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย
สก.พุทธิพัชร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ ข้อ 29 ระบุว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้รายการใดในข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานครว่าด้วยงบประมาณ จะโอนหรือเปลี่ยนรายการทั้งหมดหรือ บางส่วนต้องผ่าน สภากรุงเทพมหานคร เป็นคำถามที่ตนกังวล ถ้าไม่ผิดข้อบัญญัติ หรือรายจ่ายงบประมาณก็ยินดีสนับสนุน และข้อ 33 ระบุว่าหน่วยงานที่ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็ต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ เช่นกัน และถ้าทำเกินอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าฯก็ต้องรับผิดด้วย ตามข้อ 43 ตนอยากถามว่า กทม.มีแผนรองรับกรณีการจัดหารถขยะล่าช้าอย่างไรเพื่อไม่ให้ กระทบต่อประชาชนเพราะต้องส่งมอบปีหน้า และหากเป็นรถขยะไฟฟ้ามีแผนรองรับอย่างไร ทั้งเรื่องจุดชาร์จ การล้มเหลวในการคัดแยกขยะ และหาก TOR ล่าช้ามีการส่งมอบล่าช้าจะทำอย่างไร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การจัดการขยะเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง ปัจจุบันค่ากำจัดขยะอยู่ที่ 1 ตัน 1,900 บาท ขยะวันละ 10,000 ตัน ใช้เงินปีละ 7,000 ล้านบาท การดูแลให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส ผลประโยชน์ดีที่สุดต่อประชาชน สิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญ
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า งบประมาณการเช่ารถขยะในปีงบประมาณ 2566 มี 5 โครงการ ซึ่งยืนยันว่าเป็นโครงการใหม่ไม่ได้โอนเงินที่ทำอยู่มาใช้ แต่เนื่องจากมีงบฯต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี งบประมาณจึงต้องขอความเห็นชอบจากสภากทม. สำนักสิ่งแวดล้อมมีแผนว่าจะสามารถส่งรถเช่าได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งรถขยะมีทั้งหมด 2,020 คันจะทยอยหมดตามสัญญา รถที่ส่งมอบก็จะมาทดแทนรถเดิมที่หมดสัญญา ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำ TOR การจะเป็นรถไฟฟ้าหรือรถน้ำมันอยู่ในขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไป คุณสมบัติของรถน้ำมันหรือรถไฟฟ้าเป็นสเปกเดียวกัน ต่างกันตรงที่พลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน ความสามารถในการบีบอัดต้องเท่ากัน และต้องกำหนดชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือน้ำมันต้องทนต่อการ บีบอัดได้ตามกฎเกณฑ์ใน TOR ที่กำหนด ส่วนสถานีชาร์จนั้น กทม.ได้ติดต่อกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนร่วมกับ กทม. โดยที่ กทม.ไม่ต้องใช้งบ ยืนยัน ว่าการเช่ารถขยะในครั้งนี้เป็นไปตาม ข้อบัญญัติงบประมาณ เพราะงบปี 2566 เรื่องการเช่ารถไม่ได้ระบุว่าจะจัดซื้อ หรือเช่ารถประเภทใด แต่ระบุว่าเป็น การจัดหารถเพื่อนำมาจัดเก็บขยะเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขนขยะของ กทม. ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้าหรือสันดาปก็ได้ ส่วนการคัดแยกขยะไม่เกี่ยวกัน เพราะกระบวนการคัดแยก กทม.ทำมา ต่อเนื่องและจะทำต่อไป ในอนาคตจะมีการส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้ประชาชนช่วยคัดแยกและนำส่ง กทม.ไปกำจัดลดน้อยลง ส่วนเรื่องการ ทดสอบรถขยะไฟฟ้ามีการดำเนินการแล้วที่เขตประเวศและเขตดุสิต และจะมีการทดสอบต่อที่เขตลาดกระบัง สำหรับปัญหาการส่งมอบล่าช้านั้นหากมีการเซ็นสัญญาแล้วผู้รับจ้าง ไม่สามารถส่งรถตามกำหนดต้องเสียค่าปรับ และผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบนำรถขยะประเภทอื่นมาให้ กทม. ใช้ก่อน อย่างไรก็ตาม สำนักสิ่งแวดล้อม ได้มีการวางแผนไว้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้างอีกต่อไป
ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติเช่นชอบให้ กทม.กันเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2566 และงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปี งบประมาณ พ.ศ.2567 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณและการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ จากผู้ที่มาประชุมทั้งสิ้น 40 คน
บรรยายใต้ภาพ
พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.ยานนาวา
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 ก.ย. 2566