Search
Close this search box.
อุปสรรคไม่น้อย อนาคตไม่แน่ โอกาสยังมี Car Free Day สู่ Everyday

ศศวัชร์ คมนียวนิช

www.facebook.com/ScoopMati

มองมุมไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการรณรงค์ให้คนไทยโดยเฉพาะชาวกรุงฯ หันมาใช้รถสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล www.facebook.com/ScoopMati ด้วยอุปสรรค ปัญหา และข้อจำกัดที่ยังมีอยู่แม้ทุกวันนี้ ระบบคมนาคมขนส่งจะยกระดับขึ้นอย่างมากมาย แต่ความท้าทายที่รอเบื้องหน้าก็หาใช่น้อยๆ

‘เส้นเลือดฝอย’ คือคำที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำชัดบ่อยครั้งถึงแนวนโยบาย

[email protected] ทะลุทะลวงล้วงให้ถึงตรอกซอกซอย เพิ่มการเข้าถึงอย่างสะดวก ลดทอนการตรากตรำอีกทั้งภยันตรายในการเดินทาง

ล่าสุด ชัชชาติ นำผู้บริหารเดินทางขนส่งสาธารณะ เนื่องในวัน Bangkok Car Free Day 2023 โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้ได้[email protected] เผชิญปัญหาตรงหน้าด้วยตนเอง เพื่อนำมาแก้ไขให้เป็นรูปธรรม

กิจกรรมนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘อุปสรรค โอกาส อนาคต’ เล็งความร่วมจากทุกภาคส่วน เมื่อ 22 กันยายนที่ผ่านมา

ผู้ว่าฯกทม.นำทีมคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการเขต คณะทูต และภาคีเครือข่าย ร่วมใช้บริการขนส่งสาธารณะมาทำงานที่ศาลากว่าการ กทม. เสาชิงช้า

กว่าจะถึงศาลาว่าการฯ ‘เสาชิงช้า’เมื่อทีมผู้ว่าฯ เมินรถส่วนตัว

วันนั้น ชัชชาติ เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS และ MRT ลงสถานีสามยอด ก่อน ‘เดินเท้า’ มายังศาลว่าการฯ โดยออกจากบ้านตั้งแต่ 05.00 น. เดินจากบ้าน เข้าซอยทองหล่อ ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีทองหล่อ มาลงที่สถานีอโศก เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า MRT จากสถานีสุขุมวิท ถึงสถานีสามยอด และเดินเท้าต่อจนถึงศาลาว่าการ กทม. โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 บาท

“กิจกรรมวันนี้เป็นการรณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง แก้ปัญหาการจราจรโดยการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น เราพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขนส่งสาธารณะ แต่อยู่ที่การเดินทางกิโลเมตรสุดท้ายที่มีปัญหา เช่น ทางเท้าไม่ดี เดินลำบาก ประชาชนจึงไม่ค่อยอยากใช้รถขนส่งสาธารณะ หน้าที่ของ กทม.จึงต้องปรับปรุงการขนส่ง Last Mile ทำให้ไฟแสงสว่าง ทำทางเท้าให้ดี ดูเรื่องหาบเร่แผงลอย

ปัญหาหลักที่พบจากการเดินทางวันนี้คือระยะเวลาในการเดินทาง หากต้องการทำงานเร็วก่อนเวลา 05.30 น. จะใช้บริการ BTS และ MRT ไม่ได้ เพราะยังไม่เปิดให้บริการ และยังต้องใช้บัตร 2 ใบซึ่งไม่สะดวก บางทีหาไม่เจอต้องซื้อบัตรก็เสียเวลา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกหนักคืนก่อนหน้าด้วย” ชัชชาติกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงนานาอุปสรรค

พร้อมย้ำว่า วัน Car Free Day ที่ทั่วโลกลดการใช้รถยนต์ 1 วัน จริงๆ แล้วอยากให้เป็น Car Free Everyday คืออยากให้ทุกวันลดการใช้รถยนต์ให้น้อยลง

“ถามว่า กทม.เกี่ยวข้องอะไร เราก็มีส่วนเนื่องจากเราเป็นคนเตรียมเส้นทางการเดินทางให้ประชาชน แม้ว่าเส้นทางหลัก เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ไม่ใช่หน้าที่เรา แต่ระยะทางสุดท้าย เช่น ฟุตปาธ ทางเดินเท้า ไฟฟ้าส่องสว่าง ทางม้าลาย ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะพาประชาชนกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย

กิจกรรมถือว่าดี แต่เป็นห่วงผู้อาวุโสบางคนที่ไม่ค่อยได้เดินทาง แต่นี่คือการ Walk the talk อยากให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะ เราก็ต้องใช้เองด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนใช้แล้ว เราไม่ใช้ เราก็ไม่รู้ปัญหา ซึ่งเราจะรวบรวมปัญหาที่พบวันนี้มาแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว คณะผู้บริหารคนอื่นๆ อาทิ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. ออกจากบ้านตั้งแต่ 05.00 น. เดินเท้าจากบ้านพัก นั่งรถประจำทางลงที่ถนนราชดำเนิน และเดินเท้าเข้าถนนดินสอ ถึงศาลาว่าการ กทม. ประมาณ 05.45 น. ค่าใช้จ่ายประมาณ 20 บาท

ขณะที่ วิศณุ ทรัพย์สมพล เดินออกจากบ้านพัก 06.30 น. นั่งรถสองแถว แล้วลงเรือคลองแสนแสบ มุ่งหน้าท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ เดินเท้าจากท่าเรือ มุ่งหน้าถนนราชดำเนิน เข้าถนนดินสอ ถึงศาลาว่าการ กทม. ประมาณ 08.00 น. ค่าใช้จ่ายประมาณ 40 บาท

ด้าน ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. เริ่มต้นด้วยการนั่งวินจักรยานยนต์ ราคา 40 บาท ไปต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (หลักสี่-กรุงเทพอภิวัฒน์) เที่ยว 06.26 น. ราคา 27 บาท ต่อ MRT บางซื่อ > MRT สามยอด ราคา 43 บาท และเดินเท้าจาก MRT สามยอด ไปยัง ศาลาว่าการเสาชิงช้า รวมค่าใช้จ่าย 110 บาท เยอะสุดในทีม

ตรงข้ามกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ปั่นจักรยานจากบ้านพักโดยใช้เส้นทาง ถนนดินสอ ใช้ค่าใช้จ่าย 0 บาท (ศูนย์บาท)

รณรงค์ใช้ ‘ขนส่งมวลชน’ลดก๊าช พลังงาน มลพิษ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้มุ่งหน้าศาลาว่าการ กทม. อย่าง ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ซึ่งมีภารกิจ ณ สวนหนองจอกวนารมย์ เขตหนองจอก ออกจากที่พักประมาณ 06.30 น. ด้วยรถประจำทาง ต่อรถไฟฟ้า BTS, Airport link รถสองแถว และเดินเท้าไปยังสวนหนองจอกวนารมย์ ที่ปรึกษาฯท่านอื่นๆ รวมทั้งเลขานุการผู้ว่าฯกทม. เลือกใช้บริการสาธารณะหลากหลายตามเส้นทาง มีทั้งรถเมล์ เรือ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MRT และเดินเท้า

ส่วนท่านทูตลักเซมเบิร์ก H.E. Mr. Patrick Hemmer ใช้วิธีเดินทางด้วยจักรยานจากที่พักมายังสถานทูต ใช้ระยะทางประมาณ 750 เมตรเริ่ม 08.00 น. ถึง 08.20 น.

พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำว่า การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนเป็นเรื่องที่ดีที่สุดและเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงการลดก๊าซเรือนกระจก การลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษจากการขนส่ง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการปัญหาขยะอีกด้วย

Last mile ‘ถ้าไม่เริ่ม (ก้าวแรก) ก็ยาก’

ตัดภาพมาในวันที่ 24 กันยายน ชัชชาติ นำทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม Bangkok Car Free Day 2023 อีกครั้ง โดยเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเมื่อ 22 กันยายน ชวนประชาชนร่วมสานฝัน มากกว่า Car Free Day แต่ต้อง Everyday ตั้งเป้าสร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองปลอดมลพิษอย่างยั่งยืน รณรงค์ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะและเลือกใช้การเดินทางที่ไม่สร้างมลพิษ เพื่อประหยัดพลังงาน และยกระดับคุณภาพอากาศให้คนกรุงเทพฯ โดยมีการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางเมื่อ 23 กันยายน

“วันนี้เป็นกิจกรรม Car Free Day ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ที่ผู้บริหาร กทม.ได้ร่วมกิจกรรม พร้อมกับทั่วโลก โดยนั่งรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของเราในการทำให้การเดินทางสาธารณะและระบบการเชื่อมต่อสะดวกมากขึ้น วันนี้ก็ได้เชิญคณะทูตกว่า 20 ประเทศ มาร่วมกิจกรรม โดยหลายประเทศที่มาร่วมก็มีการใช้จักรยานมาก อย่างเช่น โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็มีการใช้จักรยานมากถึง 70% การเรียนรู้จากประเทศเพื่อนๆ ก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างสำเร็จอย่างแท้จริง ถือเป็นการเริ่มต้นทำให้เมืองมีการเดินทางสะดวกขึ้น คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การลดปัญหาโลกร้อน ลดภาวะเรือนกระจก จริงๆ แล้ว กทม.เองก็ไม่อยากให้เป็นแค่ Car Free Day แต่อยากให้เป็น Car Free Everyday ลดการใช้รถยนต์ในทุกวัน สำหรับค่าใช้จ่ายที่หลายคนบ่นว่าแพงกว่าใช้รถยนต์ สิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายถูกลง เป็นทางเลือกให้ประชาชน ถือเป็นหน้าที่ของเมืองที่ต้องทำ” ผู้ว่าฯกทม.เอ่ยในกิจกรรมวันนั้น

ชัชชาติยังกล่าวถึงความหมายของคำว่า Last mile ที่หมายถึงการเดินทางจากขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า หรือรถเมล์ และจะเข้าสู่ที่ทำงานหรือบ้านในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย ทั้งการเดิน หรือการนั่งมอเตอร์ไซค์ เมืองต้องทำให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องของฟุตปาธทางเท้า แสงสว่าง หรือให้ราคาถูกลง เพื่อให้คนหันมาใช้ทางเลือกมากขึ้น

“เป้าหมายของเราจะทยอยทำในแต่ละวัน ถ้าเราเริ่มการเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์ก็จะเกิดอย่างรวดเร็วได้ หากไม่เริ่มก็ยาก” พ่อเมือง กทม.กล่าว

อุปสรรค โอกาส อนาคต สู่แผนปี’68

ในวันนั้น ชัชชาติ นำขบวนจักรยานปั่นออกจากลานคนเมืองตั้งแต่เช้าตรู่ 6 นาฬิกา แวะจุดที่ 1 เพื่อถ่ายภาพร่วมกับผู้แทนสหประชาชาติ บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ แยกมัฆวาน และออกเดินทางต่อ โดยมีนักปั่นร่วมสมทบขบวนระหว่างทาง ผ่านคลองผดุงฯ จากนั้นแวะจุดที่ 2 ร่วมถ่ายภาพกับคณะทูต ผู้แทนสหประชาชาติ และประชาชน ณ ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี และปั่นต่อไปยังสวนเบญจกิติ เพื่อเปิดกิจกรรม

ด้าน รองผู้ว่าฯศานนท์กล่าวว่า วันนี้เป็นกิจกรรมวันที่สามแล้ว วันแรก (22 กันยายน) จัดกิจกรรมในธีม

‘อุปสรรค’ วันต่อมา (23 กันยายน) คือธีม ‘โอกาส’ และวันนี้ (24 กันยายน) เป็นกิจกรรมในธีม ‘อนาคต’

“จะเห็นจริงๆ ว่าในวันแรกผู้บริหารก็ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งมีหลายภาคส่วนที่ได้ร่วมกันสำรวจ และทำให้เห็นปัญหาตามที่ผู้ว่าฯชัชชาติได้เคยกล่าวแล้วว่าหัวใจสำคัญคือ Car Free Everyday การเห็นอุปสรรค เพื่อมาปรับเปลี่ยนนำไปสู่อนาคต

สำหรับอนาคต จะเป็นสิ่งที่ทุกกลุ่มเขตจะมาร่วมนำเสนอกับเราในวันนี้ให้เห็น First mile-Last mile สิ่งที่วางแผนจะปรับแก้ เพื่อจัดทำเป็นแผนในปีงบประมาณ 2568 โดยจะกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของเขตด้วย”ศานนท์กล่าว

นับเป็นกิจกรรมดีๆ ที่หวังว่าจะขยับจาก Car Free Day สู่ Car Free Everyday ได้จริงในสักวันหนึ่ง

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 28 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200