สก.บางกอกน้อยโวยแหลกประธานสภากทม. ไม่บรรจุวาระ รายงานผลการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าประชุม ทำฝ่ายบริหารเดินหน้าต่อไม่ได้ ดอกเบี้ยหนี้วันละ 3 ล้าน
วันที่ 27 ก.ย.2566 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพ มหานคร (สก.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานตามที่มีการคาดการณ์ว่า นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะรายงานผลการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวในการประชุมวันนี้ ปรากฏว่าไม่มีเรื่องดังกล่าวบรรจุอยู่ในวาระ การประชุม ทำให้นายนภาพล สอบถามสาเหตุที่ไม่มีเรื่องดังกล่าวบรรจุอยู่ในวาระการประชุม กับนายวิรัตน์ โดยนายวิรัตน์ ระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการประสานงานร่วมสภากรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระการประชุม
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมสภากทม. เพื่อพิจารณาวาระการประชุมต่างๆ เนื่องจากมีอำนาจมาก ในกำหนดวาระและญัตติการประชุมได้ ซึ่งปกติมีกระบวนการพิจารณาวาระของสภากทม.อยู่แล้ว ทั้งนี้ ตนได้ยื่นวาระการรายงานผลการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับคำตอบจากฝ่ายประธานสภากทม.ว่า เรื่องนี้ยังไม่เข้าพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภากทม. ประธานสภากทม.จึงยังไม่บรรจุวาระให้ ดังนั้น ตนจึงสงสัยว่า วาระการรายงานของตนเป็นการรายงานเพื่อรับทราบ ไม่ใช่เพื่อลงมติ มีจุดประสงค์ให้ฝ่ายบริหารกทม.นำแนวทางไปพิจารณาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นการรายงานเพื่อกำหนดให้ผู้บริหาร กทม.ต้องทำ โดยเฉพาะส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ถึงกำหนดชำระแล้ว ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) มีหนังสือเรียกให้กทม.ชำระ 5 ครั้งแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีดอกเบี้ยกว่า 3% หรือวันละ 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งหากไม่นำเรื่องเข้ารายงานสภากทม.ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ โดยตามกฎหมาย เมื่อประชุมสรุปผลการศึกษาแล้วต้องรายงานสภากทม. หากไม่นำเข้ารายงานถือว่าผิดกฎหมายมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และข้อ 86 ของ ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร 2562
นายนภาพลกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดประธานสภากทม.จึงไม่นำวาระของตนเข้ารายงานต่อสภากทม. โดยคราวหน้าในการประชุมการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2566 ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ตนจะยื่นเป็นญัตติเข้าสภากทม. ให้พิจารณาในเรื่องนี้ตามสิทธิที่ทำได้ หากไม่ได้รับการพิจารณานำเข้าสภากทม. ตนจะเดินหน้า หาทางฟ้องร้องฐานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ การประชุมสภากทม. และมาตรา 157 ต่อไป
ด้าน นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง กล่าวว่า ประธานสภากรุงเทพมหานครต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562 ข้อ 23(4) จะดำเนินการเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และยังมีข้อ 38 วรรค 2 กำหนดให้ ประธานสภากรุงเทพ มหานคร บรรจุญัตติที่เสนอมาเข้าระเบียบ วาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ภายใน กำหนดเวลาอันสมควรในสมัยประชุมนั้น
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 28 ก.ย. 2566