เก็บค่าบำบัด’น้ำเสีย’ปีหน้า ยึดรูปแบบใช้มาก-จ่ายมาก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียระหว่าง กทม.กับการประปานครหลวง (กปน.) พร้อมขอประชาชนอย่ากังวลกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจัดเก็บเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ตามแนวคิดผู้สร้างมลภาวะมากก็ต้องรับผิดชอบค่าบำบัดมลภาวะที่เกิดขึ้น เพื่อความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทุกคน ไม่ให้เป็นการนำภาษีประชาชนส่วนรวมมาจ่าย อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้คนใช้น้ำน้อยลง

ทั้งนี้ ระยะแรกคาดว่าจะเก็บได้ประมาณ 200 ล้านบาท หากสถานประกอบการ โรงแรม หรือโรงงานใดมีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานแล้ว สามารถเลือกที่จะไม่เข้าร่วมระบบบำบัดน้ำเสีย และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามนโยบายดังกล่าวได้ แต่เชื่อว่าระบบบำบัดน้ำเสียของทาง กทม. จะมีข้อดีระยะยาวคือช่วยลดการลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียของผู้ประกอบการ ทั้งการดูแลรักษาระบบ และการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บำบัด ผ่านการใช้บริการกับ กทม. และ กปน.

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกทม.ก่อสร้าง และเดินระบบบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง มีขีดความสามารถในการบำบัดได้ประมาณ 1 ล้านลบ.ม./วัน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 800 ล้านบาท/ปี จึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อผู้ประกอบการที่ทำให้เกิดน้ำเสีย ช่วงแรกแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ได้แก่

ประเภทที่ 2 อาคารสำนักงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./เดือน ประเภทที่ 3 โรงแรม โรงงาน อาคารสำนักงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./เดือน และเจ้าของสถานประกอบการที่ได้ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียจาก กทม. คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บได้ปีหน้า

สำหรับพื้นที่บริการจัดเก็บที่นำร่อง 8 แห่ง ได้แก่ สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางซื่อ.

 

 

ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ก.ย. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200