จ่ายค่าเดินรถพักหนี้ระบบ-เริ่มเก็บค่าโดยสาร
นายนภาพล จีระกุล สก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สภากทม. เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางให้ผู้บริหาร กทม.ไปเจรจากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) ขอแยกสัญญาส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ออกจากสัญญาค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อกำหนดในสัญญาที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทำไว้กับบีทีเอสข้อ 6.2 ระบุว่า ส่วน E&M สามารถแยกออกมาดำเนินการได้นอกเหนือจากภาระหนี้ส่วนอื่น หากมีการชำระหนี้แล้วสามารถโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม.ได้
นายนภาพลกล่าวว่า หากฝ่ายบริหาร กทม. ดำเนินการตามข้อแนะนำได้จะเกิดประโยชน์กับ กทม. เนื่องจากปัจจุบัน กทม.เสียดอกเบี้ยส่วน E&M วันละ 3 ล้านกว่าบาท จากหนี้ทั้งหมดประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ระหว่างเจรจาเสนอให้บีทีเอสพักหนี้ส่วนค่าปรับและดอกเบี้ยไว้ก่อน กทม.จะไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ส่วนดังกล่าวมากเกินไป ส่วนข้อแนะนำเพิ่มเติม คือเรื่องเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ให้พิจารณาเริ่มเก็บค่าโดยสาร รวมกับเส้นทางหลักสัมปทานอัตราสูงสุดไม่เกิน 62 บาทตามแนวคิดเดิม คณะกรรมการวิสามัญฯ จะรายงานผลการประชุมดังกล่าวให้สภา กทม. ทราบในวันที่ 27 ก.ย.นี้ หากผู้บริหารกทม.รับทราบและเห็นชอบดำเนินการเจราจากับบีทีเอสได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเสนอกระทรวงมหาดไทย และ ครม.พิจารณาจะให้ กทม. ดำเนินการอย่างไรต่อไป.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2566