(18 ก.ย.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้แทนของกรุงเทพมหานครร่วมเป็นวิทยากรในการประเด็น “Urban Best Practices in Technology Application for Disaster Risk Reduction from Northeast and Southeast Asia” โดยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้มีการนำเสนอบทเรียนการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการหนุนเสริมการบริหารจัดการสาธารณภัย และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร โดยเน้นย้ำถึงหลักการทำงานที่ “ยึดหลักพลเมืองเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Approach)” ที่เป็นหัวใจในการออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมืองให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน กทม. มีการขับเคลื่อนผ่านชุดนโยบบาย “ปลอดภัยดี” และมหานครหยุ่นตัว (Resilience) ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครที่สอดรับกับกรอบแนวทางสากลอย่างไร้รอยต่อ
หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของกรุงเทพมหานครผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมประกอบด้วย 3 แกนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การใช้ข้อมูลที่แม่นยำเป็นฐานในการตัดสินใจ (Data-Driven Decisions) อาทิ การใช้ระบบ AI การติดตามและคาดการณ์ฝนในรายพื้นที่ระดับเขตอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น การใช้เครือข่าย IoT ต่างๆ ในการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และการใช้ระบบแผนที่ BKK Risk Map ที่ปัจจุบันสามารถบูรณาการข้อมูลความเสี่ยงได้มากกว่า 7 ภัยแล้ว ได้แก่ อุทกภัย อัคคีภัย ความปลอดภัยทางถนน ฝุ่น PM2.5 อาชญากรรม สุขภาพ และสารเคมี 2. การจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ (Resourceful Resilience) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ ทั้งงบประมาณ ความรู้ และกำลังคน ให้เพียงพออย่างเหมาะสม อาทิ การจัดสรรงบประมาณในการยกระดับขีดความสามารถในการป้องกันและลดความเสี่ยงน้ำท่วมในระยะยาว และ 3. การดำเนินการในลักษณะ “แก้ปัญหาเล็ก สร้างผลขนาดใหญ่” (Micro solutions, micro impact) จากแนวทางการการทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เน้นการทำงานทั้งเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอยอย่างสมดุล อาทิ การให้ความสำคัญกับระบบระบายน้ำของเมืองในทุกรูปแบบเพื่อลดความเสี่ยง อาทิ การทำความสะอาดครั้งใหญ่ของระบบระบายน้ำกว่า 7,000 กิโลเมตรภายใน 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณฝนจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme weather) ที่ทำให้ฝนเกิบกว่าประมาณ 100 มิลิเมตรต่อชั่วโมง หรือการเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ หรือแก้มลิงธรรมชาติในการรองรับน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังเน้นย้ำถึงการที่นโยบายและมาตรการต่างๆ สามารถยืดหยุ่นได้ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่ตอบโจทย์กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเปิดกว้างกับแนวคิด ไอเดีย และวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์จากคนเมืองอย่างเท่าเทียมผ่านกลไก Bangkok City Lab และ BKK Hackathon เป็นต้น ท้ายที่สุด กรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในฐานะผู้รับและผู้ให้กับเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อทำให้สามารถร่วมกับลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมโลก
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเข้าร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียน และความสำเร็จในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับภูมิภาคในการประชุม International Disaster Resilience Leaders Forum Incheon 2023 ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยการประชุมผู้นำฯ ในครั้งนี้มุ่งหมายให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับโลกในการเรียนรู้ความสำเร็จการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมทั้งการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเมืองต่างๆ ที่เป็นเครือข่าย Making Resilient Cities (MCR2030) ซึ่งกรุงเทพมหานครมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยร่วมเป็นสมาชิกเมื่อมีนาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา
————