(18 ก.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 20/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องการพยากรณ์ โดยได้ประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา ในการปรับโมเดล เนื่องจากการพยากรณ์เป็นเรื่องที่สำคัญในการเตรียมการรับมือ ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ทำแอปพลิเคชัน ซึ่งใกล้สำเร็จ 100% พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการเชื่อมโยงถึงโครงการ Work from home ในช่วงที่ฝุ่นเยอะ ซึ่งจะมีเครือข่ายที่ร่วม Work from home เพื่อลดการใช้รถและทำงานที่บ้านด้วย
สำหรับการจำกัดต้นตอฝุ่น มี 3 เรื่อง คือ โรงงานอุตสาหกรรม ได้มีการหารือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว มีโรงงานทั้งหมดประมาณ 5,000 แห่งในกรุงเทพมหานคร แต่ที่มีความเสี่ยงในการใช้เชื้อเพลิงที่อาจก่อให้เกิด PM2.5 ประมาณ 500 แห่ง ซึ่งได้มีการประสานงานและขอรายชื่อ ตำแหน่งพิกัด และเข้าไปตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และมีโรงงานอยู่ 4 แห่ง ที่เฝ้าติดตามปล่องว่าปล่อย PM 2.5 เท่าใด (real time) โดยจะส่งสัญญาณมาที่กทม. เพื่อที่จะสามารถติดตามโรงงานทั้ง 4 แห่งนี้ และสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงแพล้นปูนก็ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาตลอด
เรื่องรถยนต์ เป็นเรื่องที่ต้องหารือกับทางรัฐบาลด้วย เพราะจะมีการปรับรถยนต์ให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ตามกำหนดการคือต้นปีหน้า รวมทั้งมาตรฐานน้ำมันที่เป็นยูโร 5 เช่นกัน ทั้งนี้ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้เป็นไปตามแผนเดิม ขณะเดียวกันในส่วนของกทม. ก็ต้องร่วมมือกับตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ในการตรวจควันดำให้มากขึ้น ไม่เน้นตรวจบนถนน แต่เน้นตรวจที่ต้นทาง/จุดหมายปลายทาง เช่น แพล้นปูน ไซส์ก่อสร้าง ให้มากขึ้น
ส่วนเรื่องการเผาชีวมวล เป็นประเด็นที่ต้องร่วมมือกับทางรัฐบาลในแง่ของการลดชีวมวลทั้งข้าวและอ้อย ในส่วนของต่างประเทศต้องมีการให้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ด้านกทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ในการจัดซื้อเครื่องอัดฟางเพิ่มเติม 3 ชุดรวมรถแทรกเตอร์ เพื่อช่วยเกษตรกรอัดฟางไปขายได้โดยที่ไม่ต้องเผา ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกสมาคมชาวนาหนองจอกขอร้องมา
มีคำถามว่าสถานการณ์ปีนี้จะทวีความรุนแรงหรือดีขึ้นเพราะมีปรากฏการณ์เอลนีโญ ก็มี 2 แนวคิดว่าเอลนีโญจะทำให้ฝุ่นไม่เยอะ อากาศโปร่ง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งคือ เมื่อแล้งจะเกิดการเผาชีวมวลมาก แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือจะมีฝุ่นเยอะ ฉะนั้นจึงต้องเตรียมรับมือให้พร้อม
ในส่วนของการดูแลกลุ่มเปราะบางของโรงเรียน ได้มีการซื้อและติดเครื่องฟอกอากาศในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นคนละโครงการกับการติดแอร์ในห้องเรียน โดยในศูนย์เด็กเล็กเราติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแล้ว ตอนนี้จะติดตั้งเพิ่มในโรงเรียน โดยเริ่มที่ชั้นเด็กเล็ก คืออนุบาล สำหรับกลุ่มเด็กโต จะเป็นการเตรียมหน้ากาก จำกัดการเข้าพื้นที่ รวมถึงการแจ้งเตือนภัย เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้
สำหรับมาตรการแผนแม่บทต้องมีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากทุกส่วนช่วยกันน่าจะได้ผลดีขึ้น ส่วนเรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่นจะเริ่มที่การหาภาคเอกชนมาทำ CSR เพื่อทดสอบก่อน
● สั่งการทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมตลอดเวลาในช่วงฝนตก
ในเรื่องของการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินการตามแผนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลาย ๆ จุดสถานการณ์ดีขึ้น สิ่งที่ยังกังวลคือฝนตกเป็นจุด ๆ ในปริมาณมาก จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา รถโมบายต้องพร้อม หน่วยบริการประชาชนต้องพร้อม
● เข้าพบนายกฯ หารือเรื่องที่ต้องอาศัยร่วมมือหลายฝ่าย
ส่วนเรื่องที่จะต้องหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัญหาหลักของกรุงเทพมหานครเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หลายส่วนหลายเรื่องจึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน หากท่านนายกฯ กรุณาตรงนี้ก็จะทำให้การประสานงานเป็นไปได้ดีขึ้น เช่น เรื่องการจราจร ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างของหลายหน่วยงาน อาทิ รถไฟฟ้า การทางพิเศษฯ การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ กทม.อาจจะไปขอความร่วมมือได้ แต่เราสั่งการไม่ได้ แต่ถ้ามีการสั่งการที่ชัดเจน ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ปัญหาหลายอย่างที่มีอยู่ก็น่าจะบรรเทาไปได้เยอะ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องนี้ เรื่องเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ทางรัฐบาลน่าจะเห็นตรงกัน
—————————