เร่งยกระดับการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ชวนเอกชนหนุนห้องเรียนปลอดฝุ่น

รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงยกระดับการเรียนรู้เด็กปฐมวัย รร.กทม. แจงแนวทาง ห้องเรียนปลอดฝุ่น ร่วมเอกชนทำ ค่าไฟ อยู่ในงบอุดหนุนรัฐบาล

วันที่ 12 ก.ย.2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเรื่องการยกระดับการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบ ในกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดการศึกษา ภายใต้งบประมาณ ปี 2567 พร้อมชี้แจงรายละเอียดและแนวทางดำเนินการโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ของ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หลังจาก ไม่ได้งบประมาณ โดยมี นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ รองผู้อำนวยการ สำนักการศึกษา ร่วมแถลง ณ ห้อง ปัญญพัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

นายศานนท์กล่าวว่า ภาพ รวมเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามทะเบียนราษฎรมีเด็ก 0-6 ขวบจำนวน 259,264 คน อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร 82,990 คน ราว 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด เป็นส่วนของ โรงเรียนกทม. นักเรียนอนุบาล 429 โรงเรียน รวม 38,499 คน, นักเรียน ป.1 จำนวน 431 โรงเรียน รวม 26,945 คน และเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 274 โรงเรียน รวม 17,213 คน และ ยังมีเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ของศูนย์บริการสาธารณสุข 12 แห่ง รวม 218 คน เด็กในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ คู่นมแม่ ในโรงพยาบาลกทม. 8 แห่ง รวม 115 คน อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ โดย กทม.มีแผนจะเพิ่มจำนวนนักเรียนอนุบาลจากการสำรวจศักยภาพโรงเรียนกทม. 429 โรงเรียน มี 189 โรงเรียน มีความพร้อมจะรองรับเพิ่มได้ในปีการศึกษาหน้า จะเพิ่มเด็กเข้าเรียนได้อย่างน้อย 7,000 คน และคาดการณ์จะได้มากถึง 10,000-15,000 คน

สำหรับประเด็นห้องเรียนปลอดฝุ่น อยู่ในนโยบาย 226 นโยบาย โดยสภาพห้องเรียนเด็กเล็กปัจจุบันจะมีห้องที่เป็นระบบเปิดไม่มีกำแพงปิดกั้น ใช้พัดลม 10 ตัว จึงเป็นที่มาของโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น มีรายละเอียดงบประมาณในการปรับปรุงห้องเรียนโดยปิดผนัง ติดเครื่องปรับอากาศ คำนวณไว้ 30,000 btu ห้องละ 2 เครื่อง และพัดลมระบายอากาศ รวม 219 ล้านบาท ที่ไม่ได้รับงบประมาณ (ในขั้นแปรญัตติ) ในส่วนของเครื่อง ฟอกอากาศ รวม 1,743 เครื่อง รวม 52.11 ล้านบาท เป็นเรื่องของคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ จึงแยกโครงการขอ งบประมาณ ปี 2567 ซึ่งสภา กทม. ได้อนุมัติให้มาแล้ว

สำหรับค่าไฟ 437 โรงเรียน 50 เขต สำนักการศึกษาได้คำนวณไว้ 3 กรณี 1.เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชม. = 12.48 บาท/วัน/เครื่อง 2,995.2 บาท/ปี/เครื่อง 2.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นครึ่งวัน 4 ชม. = 24.96 บาท/วัน/เครื่อง 5,990 บาท/ปี /เครื่อง 3.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นเต็มวัน 8 ชม. = 49.92 บาท/วัน/เครื่อง 11,980.8 บาท/ปี /เครื่อง โดยได้รับงบประมาณ (งบอุดหุนนรัฐบาล) เป็นรายหัวคิด 40% ของการเรียนการสอน กทม.จะได้รับงบในหมวดนี้ประมาณ 640 ล้านบาท ปัจจุบันเราใช้งบส่วนนี้อยู่ที่ 172.24 ล้านบาท ยังไม่ถึง 30% ยังมีอีก 10% กว่า ที่ยังสามารถใช้ค่าไฟตามงบอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งถ้าทำห้องปลอดฝุ่นก็จะบริหารจัดการค่าไฟให้พอกับกรอบงบอุดหนุนนี้

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงแนวทางดำเนินการต่อหลังไม่ได้งบประมาณ ว่า มี 3 แนวทาง 1.Positive Pressure คือการปิดห้องโดยใช้วัสดุทึบปิดตาม รูอากาศช่องหน้าต่างประตู และใช้พัดลมเติมอากาศสะอาดเข้าไป 2.Solar Cell+ Air Condition ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องวัดอากาศ โซลาร์เซลล์ และเครื่องกรองอากาศ พร้อมติดตามผลฝุ่น/คาร์บอนที่ลดได้ โดยร่วมกับเอกชน ในรูปแบบ CSR ขณะนี้มีมาร่วมบ้างแล้ว เอกชนที่สนใจมาช่วยสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักการศึกษา โทร.02-4376631 เวลาราชการ และ 3.ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ติดโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับการใช้ไฟห้าที่ เพิ่มขึ้นโดยไม่ให้ กระทบต่อค่าใช้จ่ายของโรงเรียนในระยะยาว

 

 

ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200