ไม่ต้องทุบ’แอชตัน อโศก’ สั่ง3ฝ่ายเร่งแก้ให้ถูก กม.
ผู้จัดการรายวัน360 – “ศาลปกครองกลาง” สั่งไม่ต้องทุบ “แอชตัน อโศก” คดีสยามสมาคมฟ้องรื้อถอนก่อสร้างโครงการ พร้อมสั่ง “ผู้ว่าฯ กทม.-ผอ.เขตวัฒนา-อนันดาฯ-รฟม.” หารือแก้ไขตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ
วานนี้ (24 พ.ย.) ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.), ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา กรณีออกใบอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บจ.อนันดาฯ) ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ถ.สุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (พ.ร.บ.ควบคุม อาคารฯ) ที่กำหนดให้อาคารก่อสร้างที่มีพื้นที่ใช้สอย 3 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ยังทำให้เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็นเรือนไทยอนุรักษ์ของสยามสมาคมฯ ได้รับความเสียหาย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่มีหนังสือร้องเรียนว่าโครงการก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก ไม่เป็นไปตามออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯถึงผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2559 แต่ทั้งผู้ว่าฯ กทม., ผอ.สำนักการโยธา กทม. และ ผอ.เขตวัฒนา มิได้ตรวจสอบตามข้อ ร้องเรียนของสยามสมาคมฯ จนกระทั่ง บจ. อนันดาฯ ก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ จึงเป็นการที่ผู้ว่าฯ กทม., ผอ.สำนักการโยธา กทม. และ ผอ.เขตวัฒนา ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ กำหนดให้ต้องปฏิบัติในการออกคำสั่งให้ บจ.อนันดาฯ ต้องปฏิบัติระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารโครงการดังกล่าว
แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีการโอนขายให้แก่ประชาชนไปแล้ว 668 ห้อง จากห้องพักอาศัยทั้งสิ้น 783 ห้อง หากศาลจะมีคำบังคับดังกล่าวโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่ ผู้ว่าฯ กทม., ผอ.สำนักการโยธา กทม. และ ผอ.เขตวัฒนา หาวิธีการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนและเสียหายให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก เจ้าของร่วมที่ได้ซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวเป็นบุคคลภายนอกที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมอาคารของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จึงสมควรที่ผู้ว่าฯ กทม., ผอ.สำนักการโยธา กทม., ผอ.เขตวัฒนา, บจ.อนันดาฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะได้ร่วมปรึกษาหาวิธีการแก้ไขให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าวมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร โดยการจัดหาที่ดินด้วยวิธีใดๆ อันชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารพิพาทเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ
พิพากษาให้ผู้ว่าฯ กทม. และหรือ ผอ.เขตวัฒนา ใช้อำนาจ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ดำเนินการต่อ บจ.อนันดาฯ ผู้ดำเนินโครงการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจกฎหมายในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก ก็ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เฉพาะในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ ผู้ว่าฯ กทม., ผอ.สำนักการโยธา กทม., ผอ.เขตวัฒนา, บจ.อนันดาฯ และ รฟม. ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาทกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ด้าน นายพิสุทธิ์ รักวงษ์ ทนายความจากนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า พอใจกับคำพิพากษาบางส่วน เพราะลูกบ้าน 600 กว่าห้องได้เข้าไปอาศัยในคอนโดมิเนียมแล้ว ถ้าไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการร่วมกับผู้พัฒนาโครงการ ตลอดจน รฟม.ไปจัดการก็จะไม่เกิดความเป็นธรรมกับลูกบ้านทั้งหมด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อน เสียหายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ผลการพิพากษาในคดีของสมาคมลดโลกร้อน ทำให้ลูกบ้านประสบปัญหาในเรื่องการทำรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน และทำรีเทนชั่นกับธนาคาร ต้องรับภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่แพง อีกทั้งเห็นว่าศาลควรจำหน่ายคดีนี้ไปออกจากสารบบ และให้ไปพิจารณาในประเด็นหลัก โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับเจ้าของร่วมว่าจะยื่นอุทธรณ์ตามระยะเวลากรอบกฎหมายกำหนดหรือไม่
“ยอมรับว่าคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ส่งผลดีต่อลูกบ้าน เพราะไม่ต้องรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างไปแล้ว” นายพิสุทธิ์ ระบุ
ขณะที่ตัวแทนจาก บจ.อนันดาฯ เปิดเผยว่า คดีนี้ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ลูกบ้านยังดำเนินธุรกรรมได้ตามปกติ เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองกลางไม่ได้มีผลผูกพันใช้บังคับ และยังไม่ถึง ที่สุด ถือว่าใบอนุญาตเป็นไปตามกฎหมายอยู่ ส่วนที่ศาลให้หารือกันเพื่อหาทางออก คงต้องรอทางทีมงานก่อนว่าจะตัดสินอย่างไร และต้องไปศึกษาคำพิพากษาโดยละเอียดก่อน.
ที่มา: นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 25 พ.ย. 2565