โรดแมปกรุงเทพฯ รับมือภัยพิบัติกระหน่ำ

ไม่มีคนกรุงเทพฯ คนไหนไม่เคยลุยน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพมหานคร นี่ยังไม่รวมปัญหาไฟไหม้ ตึกถล่ม น้ำเน่าเสีย คลื่นความร้อนในเมืองที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลจากพฤติกรรมมนุษย์และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ยกระดับเป็นโลกเดือดในตอนนี้ ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ หากไร้การจัดการเมือง ชีวิตชาวกรุงเทพฯ ยิ่งเสี่ยงขึ้น ขณะที่การจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการเมืองก็มีความท้าทาย ต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลง

เหตุนี้ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร และสถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมสัมมนาโครงการจัดทำ แผนแม่บท (Road Map) การบริหารจัดการเมืองในสถานการณ์วิกฤต ณ ห้องปรินซ์บอลรูม โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้ทำการศึกษา วิเคราะห์ และออกแบบกระบวนการบริหารจัดการเมืองให้สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤต เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานของ กทม. และทุกภาคส่วนสามารถประสานความร่วมมือในการรับมือกับสาธารณภัยและภัยพิบัติต่างๆ ของเมืองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การสัมมนาครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเมืองในสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะปัจจุบันที่สถานการณ์ภัยพิบัติและวินาศภัยต่างๆ ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อนและจากปัญหาเฉพาะของเมือง เช่น ปัญหาน้ำท่วม ตึกถล่ม อัคคีภัย คลื่นความร้อน โรคอุบัติใหม่ เป็นต้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมหาศาล

“อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยตรวจสอบจุดอ่อนของแผนที่อาจยังมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อปรับปรุงทำให้กรุงเทพมหานครปลอดภัยขึ้น ทำให้เราสามารถพัฒนาไปได้อย่างถูกที่ถูกทาง จากความร่วมมือนี้ หวังว่าจะทำให้เราได้แผนที่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง” รองผู้ว่าฯ กล่าว

ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานคณะกรรมการเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติในกรุงเทพฯ มีความไม่แน่นอนสูงมาก รวมถึงวิถีชีวิตคนแบบนิวนอร์มอลที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งส่งผลต่อประชากรใน กทม. ซึ่งมีจำนวนมากเกินขีดความสามารถของเมืองจะรองรับและดูแล ประชากรที่ลงทะเบียนมีแค่ 6 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงๆ สูงเกือบ 10 ล้านคน ประชากรหนาแน่น เมื่อเกิดโรคระบาดโควิดหรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาวะวิกฤต ส่อถึงภัยที่มีต่อชีวิตของคนทุกวินาที

“ภัยพิบัติหากเกิดในท้องถิ่น ผลกระทบไม่มากเท่าเขตเมือง ซึ่งจะกระทบเป็นลูกโซ่ ขยายตัวเป็นรัศมีวงกลมอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมจากน้ำเหนือ ลุ่มน้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา โหลดที่จะรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่เหนือ กทม. เจ้าพระยารับได้อย่างมาก 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัญหาสำคัญเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่เพียงพอ หากปริมาณน้ำทะลักมากกว่าขีดรองรับ เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณฝนที่ตกหนักต่อครั้งคาดการณ์ไม่ได้ บางครั้งเทรุนแรง ระบายไม่ทัน พื้นที่ 30% ของ กทม. จะเสี่ยงภาวะน้ำท่วม เสริมน้ำทะเลหนุน กลายเป็นน้ำท่วมขังแช่ยาวนาน ทางออกต้องเบี่ยงน้ำออกทางซ้ายและขวาของ กทม.เพิ่มขึ้น ตอนนี้มีแผนทำฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่เจ้าพระยามากขึ้น คลองกว่า 1,600 สาย ความยาว 2,600 กม. เป็นอีกกลไกดันน้ำลงเจ้าพระยา แม้จะมีมาตรการต่างๆ อุโมงค์น้ำ ธนาคารน้ำ แก้มลิง แต่ยังไว้ใจไม่ได้ คน กทม.อยู่ในภาวะใจจดใจจ่อ ยังไม่พูดถึงปัญหาขยะเกือบ 9,000 ตันต่อวัน ที่ไม่มีแนวโน้มลดลง ฝุ่น PM 2.5 ภัยจากอากาศที่ร้อนจัด ตลอดปีมีภัยมาเป็นระลอกๆ ฉะนั้น โรดแมป กทม.ต้องครอบคลุมปัญหาความไม่แน่นอนนี้ และเตรียมการล่วงหน้า มีแนวทางการบริหารช่วงวิกฤตของเมืองในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด แผนที่ตกยุคต้องทบทวน” ดร.พิจิตต กล่าว

ส่วนทางออก อดีตผู้ว่าฯ กทม.เสนอให้สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับทีดีอาร์ไอ สภาพัฒน์ เสนอให้รัฐบาลใหม่จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเร่งด่วน โดยมีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนครอบคลุมทุกมิติ ระบบคมนาคม ระบบจัดการที่อยู่อาศัย ระบบการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต นอกจากนี้ เร่งรัดการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง และมาตรการผังเมืองที่ต้องตัดสินใจหยุดอาคารสูงในเขต CBD มีมาตรการภาษีท้องถิ่น แผนต้องให้ความสำคัญลดความเหลื่อมล้ำอันดับแรก ถัดมาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรง และความปลอดภัยของคนในเขตเมือง ความเป็นเมืองยืดหยุ่นเผชิญเหตุไม่คาดฝัน

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น ประเทศกลุ่มเสี่ยงจะเผชิญภัยพิบัติมากมาย ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ทอร์นาโด แน่นอน กทม. จากสถิติปริมาณฝนต่อวันเพิ่มขึ้น 40-80% ปีที่แล้วจำนวนวันที่ฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตรมีมากกว่า 10 วัน ปกติแค่ 1-2 วัน อนาคตจะเจอ 250 มิลลิเมตรต่อวัน อีกภัยคือคลื่นความร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น ธีมของโลกต้องก้าวข้ามความเสี่ยงไปสู่ความยืดหยุ่น ความสามารถในการฟื้นคืนสู่ปกติ

“กรุงเทพฯ ภัยน้ำท่วมอันดับหนึ่ง ทั้งจากปริมาณฝน น้ำเหนือหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง ผลกระทบรุนแรง หนักสุดคือแผ่นดินไหวที่คาดการณ์ไม่ได้ ส่วนคลื่นความร้อนปฏิเสธไม่ได้ กทม.เป็นป่าคอนกรีต เมื่อแล้งน้ำทะเลหนุนสูงตามด้วยปัญหาน้ำประปาเค็มในหลายพื้นที่ ถ้าจะมัวแต่บริหารจัดการความเสี่ยง เราจะเหนื่อยมาก กรุงเทพฯ จะจมน้ำ เป็นประเด็นที่โลกสนใจ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ งานวิจัย 5 ปีที่แล้วของยุโรป ญี่ปุ่น นำพื้นฐานจากไอพีซีซีเตือน แล้วรายงานฉบับ 6 ของไอพีซีซี แสดงถึงระดับน้ำที่จะหนุนสูงในพื้นที่ กทม. และพระสมุทรเจดีย์ ข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้ประโยชน์จัดทำแผนแม่บท” รศ.ดร.เสรีกล่าว

แม้ภาครัฐมีมาตรการแก้ปัญหา ทั้งคลองผันน้ำ เมกะโปรเจกต์วงแหวนรอบนอก นักวิชาการภัยพิบัติระบุในท้ายงานวิจัยประเมินแล้ว เอาไม่อยู่ กรุงเทพฯ จะเสี่ยงภัยพิบัติน้ำท่วม ความเสียหายปัจจุบัน 30,000 ล้านบาทต่อปี แต่อีก 30 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 300,000 ล้านบาทต่อปี การเลือกเดินเส้นทางไหนขึ้นกับทุกคน ทุกเจนต้องร่วมมือกัน มิฉะนั้น จะไม่สามารถปรับตัวได้เลย

จากเวทีสะท้อนกรุงเทพฯ ในวันนี้และอนาคตจะเผชิญภัยพิบัติโหมกระหน่ำตลอดปี เพราะโลกเดือดไม่ใช่เรื่องไกลตัว นอกจากแผนแม่บทรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพแล้ว คนกรุงเทพฯ ต้องตระหนักในการตั้งรับและปรับตัว เฝ้าระวังจากการเตือนภัยต่างๆ จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้.

 

บรรยายใต้ภาพ

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

อนาคตพื้นที่เมืองเจอน้ำท่วมหนักจากปริมาณฝนเพิ่มขึ้น

น้ำท่วม กทม.กระทบชีวิต สร้างความเสียหายเศรษฐกิจ

เสวนาหาทางออกรับมือภัยพิบัติในกรุงเทพฯ

สภาพอากาศที่แปรปรวน โจทย์ท้าทายการบริหารจัดการเมือง

 

 

ที่มา:  นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 3 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200