7เส้นทางเดิน-ปั่นสะดวก สัญจรปลอดภัย เข้มพฤติกรรมจอด
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่บริเวณถนนและทางเดินเท้าโดยรอบเสาชิงช้า ศาลาว่าการกทม. เขตพระนครเพื่อเตรียมการปรับปรุงพื้นที่ว่า เป็นการเตรียมปรับปรุงทางเดินเท้าในจุดที่สามารถทำได้ หลังมูลนิธิสถาบันการเดินและจักรยานไทย และ Urban Ally ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงย่านบำรุงเมืองใน 7 เส้นทาง
เพื่อทำให้เดินหรือปั่นจักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอผลการศึกษาว่าเส้นทางจุดนี้เดินยากเนื่องจากบางจุดมีถนนแต่ไม่มีทางเท้า บางจุดทางเท้าก็แคบเพราะทางกลุ่มจะเน้นเรื่องการเดิน จึงนำมาเสนอต่อกทม. และเมื่อลงพื้นที่ก็เห็นสอดคล้องและประเมินว่าจุดไหนทำได้หรือไม่ได้
ซึ่งจะเริ่มทยอยปรับปรุงทำเป็นทางเดินเท้าในบางช่วงที่ทำได้ โดยเพิ่มความกว้างของทางเท้าให้ประชาชนและผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์สามารถใช้ได้ แต่ถ้าหากในบางช่วงถนนแคบไม่สามารถทำทางเดินเท้าได้ก็จะตีช่องทางเดินให้ชัดเจน สำหรับทางข้ามบริเวณศาลเจ้าพ่อเสือก็จะมีการยกระดับทางข้ามขึ้นเพื่อให้เดินสะดวกและเดินได้เป็นระนาบเดียวกัน และดำเนินการตีช่องจอดรถให้มีความชัดเจนมากขึ้นส่วนจุดที่อยู่ใกล้ปากทางตามซอยย่อยต่าง ๆ จะห้ามจอด ทั้งนี้แม้จะเป็นการปรับเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ได้ประโยชน์เยอะ ซึ่งการปรับปรุงทางเดินเท้าในครั้งนี้ก็เป็น 1 ในนโยบายเดินทางดีของผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมามีประชาชนส่งข้อมูลมาจากนั้นเราก็ส่งทีมไปสำรวจเพื่อให้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
ส่วนเรื่องการนำสิ่งกีดขวางที่อยู่บนทางเท้าออก เช่น ตู้ไปรษณีย์ หรือตู้โทรศัพท์ที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรบนทางเท้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้นนั้น นายวิศณุ กล่าวว่า กทม.ได้มีการพูดคุยกับไปรษณีย์ไทยมาก่อนหน้านี้แล้วว่าถ้าตู้ไปรษณีย์ไหนที่มีคนใช้น้อยหรือไม่มีคนใช้ก็จะดำเนินการรื้อย้ายตู้ไปรษณีย์ออกเพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินสัญจรของประชาชนโดยจะทำครอบคลุมทั้ง 50 เขต ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลและหาแนวทางการจัดระเบียบตู้ไปรษณีย์ที่กีดขวางทางเท้าร่วมกับไปรษณีย์ไทย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จุดที่จะดำเนินการปรับปรุง อาทิ ถนนดินสอข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงโดยนำต้นไม้ออก ปรับเปลี่ยนพื้นที่ห้ามจอดให้เป็นเขตทางเดินต่อเนื่องจนถึงคลองรอบกรุง เพื่อให้มีทางเท้าจำลองบนพื้นถนน, ถนนมหรรณพ (จนถึงถนนตะนาว) ทำการขีดสีตีเส้นแบ่งพื้นที่ทางข้าม ช่องจอดรถ และพื้นที่ห้ามจอดให้ชัดเจน,
ถนนตะนาว (จนถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า) ปรับปรุงโดยยกพื้นที่ทางข้ามแยกศาลฯ ให้เป็นเนินเสมอกับทางเท้าเพื่อชะลอความเร็วรถยนต์ รวมถึงจะมีการขยายทางเท้า (ฝั่งศาลฯ) ออกมา 1.4 เมตร ถมร่องให้เสมอพื้นถนนแล้วขีดสีตีเส้นทางเท้าจำลองยื่นออกมาก็จะมีพื้นที่สำหรับคนเดินมากขึ้น, ถนนบำรุงเมือง เนื่องจากไม่มีพื้นที่สำหรับคนเดินจึงจะปรับเปลี่ยนการจราจรจากถนน 3 เลนให้เหลือ 2 เลน และขีดสีตีเส้นให้มีพื้นที่ทางเท้าจำลองกว้างประมาณ 1 เมตร (จากสะพานช้างโรงสี ผ่านแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า จนถึงตลาดตรอกหม้อ) เป็นต้น.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2566