‘ชัชชาติ’สั่งทุกเขต พร้อมรับมือฝนถล่ม เฝ้าระวังจุดก่อสร้าง

‘ชัชชาติ’สั่งรับมือฝนถล่มกรุง ‘กอนช.’ชี้พายุ 3 ลูกไม่ถึงไทย เผยฝนต่ำกว่าค่าปกติถึง 21% เฝ้าระวังเขื่อนใหญ่ 7 แห่ง น้ำน้อย

กอนช.ชี้พายุ3ลูกไม่ถึงไทย

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. พบว่าขณะนี้มีพายุที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 3 ลูก ได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเซาลา (SAOLA) พายุโซนร้อนไห่ขุย (HAIKUI) และพายุดีเปรสชั่นที่ก่อตัวใหม่ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์แนวทางการเคลื่อนตัวของพายุ ปรากฏว่าพายุทั้ง 3 ลูก จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะมีเพียงร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเท่านั้น ที่จะส่งผลให้มีฝนตกในบางพื้นที่ จากการวิเคราะห์ดังกล่าว กอนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-3 กันยายน 2566 โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์ตามประกาศอย่างเคร่งครัด

นายธรรมพงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้ กอนช.ได้ติดตามปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบมีปริมาณน้ำไหลเข้ารวม 772 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยน้ำไหลเข้าสะสมในอ่างใหญ่ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 199 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 129 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิรินธร 85 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างใหญ่ สะสมในช่วงสัปดาห์ถัดไป (30 ส.ค.-5 ก.ย.66) คาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าสะสมเพิ่มเติมอีก 859 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในระดับหนึ่ง

เผยฝนต่ำกว่าค่าปกติอยู่ถึง21%

นายธรรมพงศ์กล่าวว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยถึง 7 แห่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น แต่จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ พบว่ายังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่พอสมควร โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 43,863 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 53% ของความจุทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การ 19,760 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันก็ยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ถึง 21% จึงยังคงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้ จากสถานการณ์ของแหล่งน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำไม่มากนัก ประกอบกับสภาวะเอลนิโญที่ส่งผลให้มีปริมาณฝนน้อย และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สทนช.จึงได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติม จำนวน 3 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนในช่วงฤดูฝนนี้ พร้อมกันนี้จะมีการจัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565/66 และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เอลนิโญ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้งหน้า ก่อนจะมีการออกมาตรการฤดูแล้ง ปี 2566/67 เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนิโญในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป

อุตุฯเตือน16จังหวัดเสี่ยงภัย

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ประกอบด้วย 16 จังหวัดเสี่ยงภัยฝนตกหนัก คือ กาญจนบุรี ราชบุรี ระยอง พังงา ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และอีก 40 จังหวัดเสี่ยงภัยฝนตกหนัก

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย

‘พิจิตร-ชัยนาท’นาแล้งหนัก

นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าฯพิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดพิจิตร ฝนหยุดตก ทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เกษตรกรชาวนาได้รับผลกระทบ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำฝน ไม่เพียงพอสำหรับการดูแลนาข้าว เกษตรกรไม่มีแหล่งน้ำ ต้องหันไปใช้น้ำบ่อบาดาลใต้ดิน แต่บางพื้นที่ต้องรอน้ำฝน ส่งผลทำให้น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติแห้งขอดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ ต.หนองปล้อง อ.วังทรายพูน ซึ่งเป็นพื้นที่สูงและอยู่นอกเขตชลประทาน โดยระดับน้ำกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำแห้งขอด ไม่มีปริมาณน้ำกักเก็บ เนื่องจากฝนหยุดตก ไม่มีปริมาณน้ำมาเติมในช่วงฤดูฝน ขณะข้าวนาปี จำนวนกว่า 23,227 ไร่ ในทั้ง 5 อำเภอ ประกอบไปด้วย สากเหล็ก วังทรายพูน ทับคล้อ ดงเจริญ และวชิรบารมี กำลังประสบปัญหาแห้งเหี่ยว ทยอยยืนต้นตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต.หนองขุ่น อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ยังขาดน้ำที่จะใช้ในการทำนา ชาวนาในพื้นที่ต้องปล่อยที่นาให้รกร้างจำนวนหลายพันไร่ โดยชาวบ้านบอกว่าแม้ในระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็น้อยมาก ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับพื้นที่ใน ต.หนองขุ่นเป็นที่ดอน อยู่ปลายเขตชลประทาน ทำให้ไม่ค่อยมีน้ำส่งมาถึง จึงต้องรับสภาพกับความแห้งแล้ง และรอความหวังจากน้ำฝนตามภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน ในปีนี้หากในช่วงเดือนกันยายนไม่มีฝนตกหนักลงมาชาวนาคงจะหมดหวังที่จะทำนาปลูกข้าวไว้กินไว้ขาย

ชัชชาติสั่งทุกเขตรับมือฝน

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการ เตรียมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯว่า วันนี้มีร่องความกดอากาศต่ำที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบเกิดฝนตกหนักใน 1-2 วันนี้ โดยเฉพาะตอนเย็น ประมาณ 70% กทม.ได้เตรียมพร้อมทุกจุด ทั้งการพร่องน้ำในคลองต่างๆ การเตรียมอุปกรณ์ช่วยการระบายน้ำ

“เราได้ลงไปดูจุดเปราะบางต่างๆ คิดว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะฝนสมัยนี้ตกรุนแรง บางทีตกถึง 100 มิลลิเมตร โดยที่เราไม่ได้คาดไว้ก่อนว่าจะตกรุนแรงขนาดนั้น ซึ่งต้องมีหน่วยเคลื่อนที่ที่คอยมอนิเตอร์ตลอด ฝากถึงพี่น้องประชาชนให้วางแผนการจราจรช่วงเย็นให้ดี ส่วนเรื่องน้ำท่วมอาจจะมีบางจุด แต่ระบายได้ไม่ช้า” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกเขตเตรียมพร้อมช่วยเหลือการเดินทางของประชาชน โดยเตรียมเจ้าหน้าที่เทศกิจ รถของเทศกิจไว้ให้บริการกับพี่น้องประชาชน ส่วนรถเสียในจุดน้ำท่วม ซึ่งสั่งให้กองโรงงานช่างกลเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยให้มีการประสานงานกับศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม.

กังวลน้ำเค็มรุก-พื้นที่ก่อสร้าง

นายชัชชาติกล่าวว่า มีความกังวลในพื้นที่ก่อสร้างของหน่วยงานภายนอก เช่น โครงการก่อสร้างปรับปรุงคูน้ำ ถนนวิภาวดีรังสิต ของกรมทางหลวง, โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงถนนสามเสนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งคราวที่แล้วมีเรื่องท่อระบายน้ำที่โดนตัดไป, โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงถนนแจ้งวัฒนะ

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้มีความกังวลเรื่องภัยแล้ง เพราะมีน้ำเค็มรุกเข้ามาแล้ว ซึ่งต้องหารือกับทางรัฐบาลด้วยว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร จะเห็นได้ว่าปีนี้มีน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 20% จากปริมาณน้ำฝนปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตามมีความโชคดีที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก เช่น เขตหนองจอก มีการสร้างฝายกั้นน้ำ ทำให้มีน้ำสะสมไว้สำหรับทำการเกษตรได้

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200