นักเรียนจาก 8 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพหมานคร หมุนเวียนกันเข้าร่วมกิจกรรมสร้างวินัยจราจรผ่าน 3 สถานีแห่งเรียนรู้อย่างสนุกสนานและปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยทางถนน เริ่มสถานีแรก “สถานีขับขี่ใกล้ไกลปลอดภัยใส่หมวก” พาเยาวชนทำความรู้จักหมวกกันน็อค ทั้งแบบเต็มใบและครึ่งใบ แต่ละแบบป้องกันผู้สวมใส่แตกต่างกัน รวมถึงชวนเล่นเกมบันไดงูเรียนรู้เรื่องอุบัติเหตุ ป้ายจราจร ส่วนสถานีที่ 2 “สถานีอย่ามาเสี่ยง” จำลองปัจจัยเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนผ่านบูธกิจกรรม และสถานีสุดท้าย”สถานีหมวกกันน็อคสร้างสรรค์” เปิดพื้นที่ให้น้องๆ ตกแต่งหมวกกันน็อกผ่านการวาดภาพระบายสีตามจินตนาการ มีทั้งลายสวยๆ เท่ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม โรงเรียน กทม.ปลอดภัย ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร (สู่โรงเรียนต้นแบบวินัยจราจร) “ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลใส่หมวก” พร้อมทั้งมีการมอบชุดสื่อการเรียนรู้ให้กับผู้อำนวยการ 8 โรงเรียน และวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร ประกอบด้วย สื่อการเรียนการสอนเรื่อง เครื่องหมายจราจร เกมเดินช่องจราจร สื่อความรู้เรื่องการสวมหมวกนิรภัย โดย วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน งานนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กองบังคับการตำรวจจราจร ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดขึ้นที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง
วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุจากจราจรทางบก ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก มักจะเกิดกับเด็กและเยาวชน สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับขี่ที่ประมาท ไม่เคารพกฎจราจร และสภาพของรถที่ไม่ปลอดภัย การร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กๆ การสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองในการเดินทางบนถนนเป็นเรื่องสำคัญ การเดินทางของนักเรียนโรงเรียนในสังกัด กทม. ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ที่นักเรียนต้องซ้อนท้ายมากับผู้ปกครอง อีกทั้งการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็นมีความน่าเป็นห่วงสำหรับนักเรียน มีข้อมูลผู้ใหญ่สวมหมวกกันน็อคไม่ถึง 50% วัยรุ่นสวมหมวกแค่ 20% ขณะที่เด็กสวมหมวกเพียง 8% หากมีอุบัติเหตุ จะเกิดความสูญเสียและกระทบกระเทือนต่อสมอง
“หวังว่า นักเรียนจะเล็งเห็นความปลอดภัยของตนเอง สวมหมวกนิรภัยขณะซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้ปกครอง ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นเป็นความเคยชินในทุกๆวัน การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในท้องถนนแก่นักเรียน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กจะสามารถสื่อสารไปยังผู้ปกครอง ตลอดจนประชาชนในชุมชนให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ จากสถิติอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องนี้เราสามารถป้องกันได้ ถ้าทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมมีความเข้าใจมีความตระหนักในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยและให้ความสำคัญถึงประโยชน์ในการสวมหมวกนิรภัย ปลายปีจะมีการติดตามประเมินผลการสวมหมวกกันน็อคของผู้ปกครองและนักเรียนในโรงเรียนต้นแบบด้วย” รองปลัดฯ เน้นย้ำ
ด้าน ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า จากเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางสสส. คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมสร้าง “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต้นแบบ และได้ขยายความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อเน้นย้ำการสร้างความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ 8 โรงเรียน ครอบคลุม 6 โซนประกอบด้วย ร.ร.วัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย ร.ร.เคหะทุ่งสองห้องวิทยา 1 เขตหลักสี่ ร.ร.วิชากร เขตดินแดง ร.ร.ชูสินทองประดิษฐ์อนุสรณ์ เขตทุ่งครุ ร.ร.วัดศรีสุก (แย้มเยื้อนอุปถัมภ์) เขตคลองสามวา ร.ร.สุเหร่าคลองเก้า เขตหนองจอก ร.ร.สวนลุมพินี เขต
ปทุมวัน และ ร.ร.วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิตโดยจัดกิจกรรมให้ความรู้ กระตุ้นเตือนการมีจิตสำนึกถึงอุบัติเหตุทางถนน เริ่มต้นจากการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อต้องซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และสามารถบอกต่อให้ผู้ปกครองใช้ความเร็วที่ 30-40 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด อีกทั้งจะร่วมกันขยายผลกับชุมชนที่อยู่ใกล้โรงเรียน
“สสส. และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายการทำงานที่มุ่งสนับสนุนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565-2570 เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรในปี 2570 ไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์กว่า 22 ล้านคัน จึงเน้นลดอุบัติเหตุในกลุ่มนี้ โดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะมีอัตราการเสียชีวิตมีการบาดเจ็บที่ศีรษะสูง สัมพันธ์กับการไม่สวมหมวกนิรภัย ถ้าผู้ขับขี่ทุกคนสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดการเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 39% และช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ ช่วย save สมอง ซึ่งจะรณรงค์กับสังคมผ่านแคมเปญ #save สมอง หมวกกันน็อค สมองไม่น็อค” ก่องกาญจน์ กล่าว
ร.ร.วิชากรเป็น 1 ใน 8 โรงเรียนนำร่อง ธงชัย โคระทัต ผอ.ร.ร.วิชากร กล่าวว่า โรงเรียนได้ให้ความสำคัญในการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ การเดินทางในกรุงเทพฯ ส่วนมากใช้รถมอเตอร์ไซด์ควรปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักรักตัวเอง เริ่มได้ที่ตัวเองสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง นอกจากนี้ โรงเรียนจัดสถานที่เก็บหมวกนิรภัยไว้ให้ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนเวลาเดินข้ามถนน มีกิจกรรมรณรงค์ให้นักเรียนเห็นความสำคัญการสวมหมวกนิรภัย ยินดีให้ความร่วมมือกับสสส. และภาคีเครือข่ายเข้ามาทำกิจกรรม “โรงเรียน กทม.ปลอดภัย ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลให้ใส่หมวก” ช่วยเพิ่มความสนใจของนักเรียนเรื่องความปลอดภัยทางถนนได้มากจากการนำกระบวนการเกมต่างๆมาให้เด็กๆ เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น โครงการนี้ควรมีการขยายทำในโรงเรียนทั่วประเทศด้วย
บรรยายใต้ภาพ
น.ร.สนใจเล่นเกมบันไดงูเรียนรู้เรื่องวินัยจราจรแรกสู่ก้าวต่อไป”
ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รณรงค์ #saveสมอง
ปลูกฝังจิตสำนึกสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งแก่เยาวชน
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2566