ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมแถลงข่าวงาน “มหกรรมส่งเสริมสิทธิสวัสดิการแก่คนพิการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ซึ่งกทม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมผู้ปกครองบุคคล ออทิซึม (ไทย) และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการที่ยังเข้าไม่ถึง สิทธิและสวัสดิการ โดยมี น.ส.อังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดพม. นายศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกทม. ผู้บริหารกทม. ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ภาคีเครือข่าย อาทิ ทรู คอร์ปอเรชัน บริษัท ซีพี แรม จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายชัชชาติกล่าวว่า การจัดงานมหกรรมคนพิการฯ ในครั้งนี้เป็นการมุ่งเน้นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน การสร้างกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรคนพิการ และเครือข่าย เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนพิการในกรุงเทพฯ โดยผนึกกำลังกันจัดงานนี้ขึ้น พร้อมได้นำระบบ วัน สต๊อป เซอร์วิส นำร่องเปิดบริการเป็นครั้งแรกภายในงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการ เข้ามาลงทะเบียนต่างๆ
น.ส.อังคณากล่าวว่า พม.มีแนวคิดในการเปิดบริการรูปแบบ วัน สต๊อป เซอร์วิส ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกกับคนพิการ โดยรวบรวมระบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกบัตรและสวัสดิการต่างๆ มาไว้ที่จุดเดียว และหลังจากนี้ พม.จะเดินสายนำรูปแบบบริการนี้ไปให้บริการคนพิการในต่างจังหวัดทั่วประเทศต่อไป
ด้านนายศุภชีพกล่าวว่า ที่ผ่านมาคนพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เนื่องจากติดขัดในการเดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ หากมีบริการรูปแบบ วัน สต๊อป เซอร์วิส จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการได้ดียิ่งขึ้น
นายชูศักดิ์กล่าวว่า หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน คือการออกบูธนิทรรศการบริการและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อคนพิการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน กว่า 40 บูธ อาทิ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นำเสนอนวัตกรรมเพื่อบุคคลออทิสติก เช่น แอพพลิเคชั่น true autistic ที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของบุคคลออทิสติก ระบบสำรวจและ คัดกรองเบื้องต้นสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือ STS (Screening Tool for Person with Special Need) รวมถึงสาธิต ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว ซึ่งจะนำร่อง ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 2566