‘ชัชชาติ’จี้ตรวจความปลอดภัยแผ่นขอบปูนรถไฟฟ้าบีทีเอสร่วงแยกสาทร-นราธิวาส สั่งป้องกันหวั่นซ้ำรอย ติดตั้งใหม่ใช้วัสดุไฟเบอร์แทนรวม 1,200 แผ่น
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่สำนักงานเขตประเวศ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกรณีแผ่นขอบปูนซีเมนต์รถไฟฟ้าบีทีเอส ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร หล่นลงกลางแยกสาทร-นราธิวาส เขตบางรัก เมื่อช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 23 ส.ค.2566 โดยมอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้นยังไม่มีการรายงานเข้ามาว่าเกิดจากสาเหตุใด จึงสั่งการให้มีการตรวจสอบรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งเส้นว่ามีจุดไหนที่อ่อนแอ และต้องซ่อมแซมด้วยหรือไม่ว่า แผ่นคอนกรีตที่ตกลงมา เป็นแผ่นบัว Glass fiber reinforced concrete (GRC) ติดอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางสัมปทาน ประมาณ 14,000 แผ่น ความยาวต่อแผ่น 2-3 เมตร จึงให้ทางบีทีเอสเข้าไปตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งมีการรื้อออกไปประมาณ 2,000 แผ่น ติดตั้งใหม่ 1,200 แผ่น โดยใช้ Fiber-reinforced concrete (FRC) ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าและแข็งแรงกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1, 2 เป็นคอนกรีตหล่อในที่ จึงไม่มีโอกาสตกลงมา
“นอกจากนี้ ยังให้สำนักการโยธา ตรวจสอบความปลอดภัยของสะพานข้ามแยก สะพานลอยข้ามถนน รถไฟลอยฟ้า ไม่ให้มีอะไรตกลงมา” นายชัชชาติเผย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า เหตุดังกล่าวเป็นแผ่นบัวตกแต่งขอบทางวิ่งร่วงหล่น เมื่อเวลา 18.16 น. ของวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทต้องขออภัยผู้ที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างสูง และมิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโครงสร้าง ฝ่ายซ่อมบำรุง เข้าพื้นที่ในทันที พบว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และวัสดุดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนประกอบในโครงสร้างหลักของระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งไม่กระทบกับการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งสายสุขุมวิท และสายสีลม บริษัทได้ทำการประสานงานไปยัง กทม. ในการหาแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และซ่อมบำรุงให้ดียิ่งขึ้นไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก
นายชัชชาติยังเปิดเผยถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณถนนสามเสน ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่า ถนนสามเสนเป็นถนนที่ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาเวลาระบายน้ำจะมีท่อระบายน้ำ Cross กับถนนเพื่อลงสู่บ่อสูบแล้วลงแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ้าเป็นจุดที่เป็นอุโมงค์ไม่มีปัญหาเพราะลงไปลึก 30 เมตร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบระบายน้ำ
“แต่ส่วนตรงที่เป็นสถานีต้องทำผนังขึ้นมาถึงระดับผิวดิน (D-Wall) ซึ่ง D-Wall ไปตัดทางระบายน้ำทำให้ไม่สามารถระบายน้ำข้ามถนนไปลงบ่อสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ซึ่งมีจุดตัดไปหลายจุด เข้าใจว่าบริษัทผู้รับจ้างยังไม่ได้ทำระบบเสริมเข้ามา ทำให้เมื่อ 2 วันก่อนพอฝนตก น้ำที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนนไม่สามารถลงไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่สักพัก” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) ได้ลงพื้นที่ไปดู และมีผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมลงพื้นที่ด้วย ได้ให้แนวคิดว่าแต่ละจุดต้องระบายน้ำอย่างไร ต้องมีท่อเพิ่ม มีปัมดูดอย่างไร ก็ได้วางระบบหมดแล้ว ตอนแรกได้สั่งการให้หยุดก่อสร้างก่อน ถ้าไม่สามารถเสนอวิธีการที่สร้างความมั่นใจให้ได้ แต่ไม่ได้มีการหยุดก่อสร้าง เพราะมีการเสนอแผนดำเนินการเข้ามา จุดที่มีปัญหาคาดว่าน่าจะเป็นช่วงๆ ตรงจุดที่เป็นสถานี 6-7 สถานี ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำตรวจสอบอย่างต่อเนื่องต่อไป
บรรยายใต้ภาพ
ตรวจงาน – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ ร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯกทม. สัญจรเขตประเวศ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม พบปะ และรับฟังปัญหาจากประชาชนพร้อมดูจุดเสี่ยงน้ำท่วม ในพื้นที่เขตประเวศ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 27 ส.ค. 2566