ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยกรุงเทพมหานคร (อพ.สธ.-กทม.) ประจำปี 2566 โดยมี ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการ อพ.สธ. คณะกรรมการโครงการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายชาตรีกล่าวว่า ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยกทม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565-2566 ว่า กทม.ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีผลการดำเนินงานครบ 3 กรอบการดำเนินงาน จำนวน 5 กิจกรรม อาทิ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร
ด้านการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตดำเนินการสำรวจพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมภายในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการสำรวจ รวบรวมข้อมูลพันธุ์ไม้ยืนต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น สวนสาธารณะ สถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงาน เพื่อจัดทำข้อมูลทะเบียนพันธุ์ไม้และรับรู้สถานะปัจจุบันของต้นไม้แต่ละต้นที่มีความสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) รวม 35,167 ต้น เช่น สะตือ สักทอง ประดู่ ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-มี.ค.66) รวม 3,806 ต้น เช่น นุ่น มะฮอกกานี ตะแบก
ส่วนการสำรวจข้อมูลไม้ยืนต้นในสวนสาธารณะด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ระบุและบันทึกพิกัดเพื่อรับรู้ที่อยู่ของการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ไทร กระดังงา สัก ยางนา ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) รวม 57,003 ต้น ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-มี.ค.66) รวม 22,790 ต้น โดยบันทึกรวบรวมรายละเอียดข้อมูลและพิกัดของไม้ยืนต้นลงในระบบคอมพิวเตอร์ของทั้งผู้ปฏิบัติงานและรวมรวมไว้ที่กลุ่มงานวิชาการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม และออนไลน์ ในระบบ Bangkok Tree โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น
ส่วนกิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร การปลูกรักษาพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ ดูแลรักษาพันธุ์ไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ การขยายพันธุ์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อปลูกหรือแลกเปลี่ยนหรือแจกจ่ายพันธุกรรม โดยแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการหรือผู้ที่สนใจ ปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) ขยายพันธุ์ 246,247 ต้น แจกจ่าย 81,496 ต้น ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-มี.ค.66) ขยายพันธุ์ 259,751 ต้น แจกจ่าย 483,785 ต้น
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 ส.ค. 2566