กทม.ร่วมสำรวจตรวจประเมินสถานประกอบกิจการที่ผลิต – จัดเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายต่อเนื่อง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการตรวจสอบโรงงาน หรือสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผลิต เก็บ ครอบครอง หรือมีการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ โดยสำรวจและตรวจประเมินสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตราย ในรูปแบบการบูรณาการทีมตรวจร่วมระหว่างหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันได้จัดอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการสารเคมีในสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีความเสี่ยงภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สังกัดสำนักงานเขต และผู้ประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตราย โดยจัดอบรมทั้ง Onsite และ Online รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉินสารเคมีบนโต๊ะ (Table Top Exercise) แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายปกครอง สังกัดสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย สังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช เจ้าหน้าที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม เจ้าหน้าที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยสายไหม สังกัดสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีเครือข่ายการทำงานตอบโต้อุบัติภัยสารเคมีและมีแนวทางการพัฒนาแผนเผชิญเหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายของ กทม.
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และข้อปฏิบัติที่ดีตามมาตรการความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต สถานประกอบกิจการ เพื่อเผยแพร่ความรู้และเป็นแนวทางการบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายและการจัดการอุบัติภัยจากสารเคมี ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สถานีดับเพลิงและกู้ภัยท้องที่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้มงวดตรวจสอบโรงงาน สถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน
กทม.กวดขันจัดระเบียบผู้ค้ารอบสวนลุมพินี – ประสาน กฟน.เร่งสำรวจซ่อมทางเท้าที่ชำรุด
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตทางเท้าบริเวณถนนรอบสวนลุมพินี โดยเฉพาะด้านฝั่งถนนหลังสวน มีสภาพชำรุด แผ่นปูทางเท้าแตก และไม่มีแผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา (Braille Block) ว่า สำนักงานเขตปทุมวันได้ตรวจสอบการปรับปรุงทางเท้าบริเวณถนนรอบสวนลุมพินี โดยเฉพาะด้านฝั่งถนนหลังสวน พบว่าแผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา (Braille Block) อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา (สนย.) ซึ่ง สนย.ได้อนุญาตให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและฐานสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ทั้งนี้ สนย.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กฟน.และ NT ดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยแผนงานก่อสร้างตามกำหนดจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.66
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าบริเวณรอบสวนลุมพินี โดยเฉพาะบริเวณจุดผ่อนผันให้เป็นไปตามกฎระเบียบของ กทม.อย่างเคร่งครัด ทั้งการตั้งวางสิ่งของและอุปกรณ์การค้าไม่ให้กีดขวางทางสัญจร รวมทั้งควบคุมดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของร้านค้าตามแผนตรวจแนะนำการสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี โดยเฉพาะในจุดผ่อนผันเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กรณีพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับสุขลักษณะ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่จะมีแบบตรวจแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขและติดตามผลเป็นระยะ ส่วนการจัดการขยะ ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะทุกวัน วันละ 2 รอบคือ ช่วงเช้าระหว่างเวลา 05.00 – 13.00 น. และช่วงบ่ายระหว่างเวลา 13.00 – 21.00 น.
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า บริเวณถนนหลังสวน ถนนสารสินและบริเวณโดยรอบสวนลุมพินี กทม.ได้อนุญาตให้ กฟน.ดำเนินการตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ประกอบกับมีร้านค้าบริเวณทางเท้าและมีการใช้งานมาเป็นเวลานานทำให้เกิดความเสียหายบางส่วน ซึ่ง สนย.ได้ประสานแจ้ง กฟน.ให้สำรวจจุดที่ทางเท้าชำรุดเสียหายและเข้าซ่อมแซมแก้ไขชั่วคราวให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้สัญจร พร้อมทำเครื่องหมายบริเวณคืนสภาพชั่วคราวว่า รอการปรับสภาพถาวรเมื่อได้ดำเนินการลงสายใต้ดินแล้วเสร็จทั้งโครงการ ทั้งนี้ เมื่อ กฟน.ดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องคืนสภาพผิวจราจรและทางเท้าอย่างถาวรให้เป็นไปตามมาตรฐานงานทางของ กทม.ซึ่งจะเป็นวัสดุใหม่ทั้งหมดและติดแผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา (Braille Block) ด้วย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้พิการ