(26 ส.ค.66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดงานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 พร้อมร่วมเสวนาหัวข้อ “กรุงเทพมหานคร สังคมสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่เมืองแห่งการเรียนรู้” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00–20.00 น. ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ (โรงงานผลิตยาสูบ 5) สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2023 เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับ นโยบาย 12 เทศกาล ทั่วกรุงเทพ ซึ่งในเดือนสิงหาคมเป็นเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนในเมืองได้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เกิดความตระหนักในกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และวิธีคิดอย่างเป็นกระบวนการมาร่วมผลักดันให้เกิดงานนี้ขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเฟสติวัลแห่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้จะเป็นตัวจุดประกายความฝันและความหวังให้แก่เยาวชนที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์หลงรักเรื่องราววิทยาศาสตร์มากขึ้นไปอีก ประชาชนและผู้ที่สนใจเห็นความสอดคล้องที่เกิดขึ้นกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว และในห้องเรียน ศิลปินที่มาหาแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างงานศิลปะจากความสวยงามของวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์เองก็จะได้รับแนวคิดนอกกรอบและจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัดจากศิลปะไปประยุกต์ในงานวิจัยของตนเช่นกัน
งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 ภายใต้แนวคิด Science and Art (ศาสตร์และศิลป์) เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “บางกอกวิทยา” ตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงฯ เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้และวิธีการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้กับผู้คนผ่านนิทรรศการศิลปะที่มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ และการบรรยายวิทยาศาสตร์จากผู้ที่เชี่ยวชาญศิลปะการสื่อสาร รวมถึงยังส่งเสริมให้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน เกิดการทำงานร่วมกัน และพัฒนาวงการการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น
ภายในงานจัดให้มีการแสดงนิทรรศการ การเสวนา และการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราววิทยาศาสตร์ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์จริง ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นรวมงานศาสตร์และศิลป์ ทั้งวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสงสัย และศิลปะที่ทุกคนหลงใหล รวมอยู่ในที่เดียวกัน ส่งเสริมการลดกำแพงความแตกต่างของคำว่า “สายวิทย์” กับ “สายศิลป์” ให้รู้สึกใกล้ชิดกัน และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับวิทยาศาสตร์ที่ดูเข้าใจยาก ผ่านศิลปะการสื่อสารแบบต่าง ๆ อาทิ นิทรรศการด้านศิลปะได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ “วิทย์ติดเลนส์” โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และนิทรรศการภายใต้แสงสีเสียง โดย tomorrow.Lab ศิลปินจากเชียงใหม่ที่ถนัดการสรรสร้างศิลปะ การจัดกิจกรรมสอนพับกระดาษโอริงามิ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ การจัดกิจกรรมสอนวาดภาพทางชีววิทยา โดย เครือข่ายวิทย์สานศิลป์
สำหรับผู้สนใจร่วมงานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางรถประจำทาง และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ออกสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออกที่ 3
———-