สั่งพัฒนาหลักสูตร Cyber Security รร.กทม.สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ให้นร. รู้เท่าทันโลกดิจิทัล ปลูกฝังเสพสื่อนอกห้องเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสม
จากกรณีที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ชุดนี้ มีนโยบายจะให้โรงเรียนในสังกัดลดตำราเรียน แล้วเพิ่มการเรียนจากคอนเทนต์ในอินเตอร์เนต เพื่อให้เด็กเข้าถึงข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเร็วนั้น มีกระแสบางส่วนคัดค้านและกังวล ในเรื่องของการกลั่นกรองเนื้อหาและข้อมูลในไซเบอร์หรืออินเตอร์เนตมากมายที่จะให้เรียนรู้ รวมถึงจะมี แนวปฏิบัติอย่างไรในการควบคุมดูแล ให้นักเรียนได้เรียนรู้โลกอินเตอร์เนตจาก ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันที่มีข้อมูล ปลอม ข้อมูลลวง หรือ “Fake News” จำนวนมาก ในเรื่องนี้
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีห้องแล็บคอมพิวเตอร์ครบแล้ว ทุกโรงเรียน ซึ่งตอนนี้เรามีโครงการ Cyber Security ในวิชาคอมพิวเตอร์ ที่จะให้นักเรียนได้เรียนเรื่องความปลอดภัยทางสื่อดิจิทัล ตนได้สั่งการ ให้พัฒนาเป็นหลักสูตรกลางของกรุงเทพมหานคร ปูพรมทุกโรงเรียนต้องทำหลักสูตรนี้ เพื่อให้นักเรียนทุกชั้นที่ต้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ได้เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางสื่อ ดิจิทัล รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ในส่วนของการเรียนรู้ในห้องเรียน กทม.มีนโยบายพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล (Digital Classroom) โดยเปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อใช้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning (เน้นให้ผู้เรียน มีส่วนร่วม) ได้ ซึ่งยังคงมีไม่มาก เพราะ ใช้วิธีการรับบริจาคคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก
“การพัฒนาหลักสูตร Cyber Security ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางสื่อดิจิทัล ปัจจุบันมีหน่วยงานนอกเข้ามาช่วยทั้ง AIS True ยังไม่มีหลักสูตรมาตรฐานของ กทม.เอง ก็ให้สำนักการศึกษาเร่งจัดทำเป็นหลักสูตรกลางของกทม. เพื่อใช้ ในวิชาคอมพิวเตอร์ซึ่งทุกชั้นเรียนมี การเรียนอยู่แล้ว นอกจากให้เด็กได้รู้เท่าทัน โลกดิจิทัลแล้ว ก็จะปลูกฝังในเรื่องของความถูกต้องและคุณธรรมด้วย ซึ่งในส่วนการเรียนรู้ในโรงเรียนเราไม่มีปัญหา เพราะมีวิชาคอมพิวเตอร์ที่จะสอนวิธีเรียนรู้อย่างปลอดภัยและห้องเรียนดิจิทัลเรายังไม่ได้ทำทั้งหมด แต่นอกห้องเรียนก็จะมีอยู่แล้ว ที่เราจะไม่สามารถไปควบคุมได้ อย่างเสาร์อาทิตย์ที่เด็กจะไปเล่นเกมส์หรือท่องโลกดิจิทัล หลักสูตรนี้ก็จะช่วยปลูกฝังเด็กในการที่จะไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ หรือเสพสื่อที่ถูกต้องนอกห้องเรียนได้” นายศานนท์กล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีความพยายามในการพัฒนายกระดับการศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยปรับให้มีการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน ระหว่างหลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรนอกห้องเรียนมากขึ้น รวมถึงหลักสูตรการเรียนรู้ โลกดิจิทัล ทักษะด้านดิจิทัลในการใช้งาน บนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถ ใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม
ด้านนางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวถึงนโยบายผู้บริหารในการ พัฒนาห้องเรียนดิจิทัล (Digital Classroom) ใช้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning (เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม) ขณะนี้ยังมีไม่มาก อยู่ระหว่าง เพิ่มจำนวน ในปีนี้ตามแผนจะเพิ่มในอีก 11 โรงเรียน โดยการเรียนในห้องเรียนดิจิทัลจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และการเข้าถึงข้อมูลของเด็กมากกว่าการเรียนในตำราเรียน ที่กำหนดแค่จำนวนหน้าในหนังสือ แต่อาจมีความกังวลของผู้ปกครอง ในหลายเรื่องทั้งเรื่องสายตาที่จะต้องจ้องมองแท็บเลตหรือโน้ตบุ๊กเป็น เวลานาน และเรื่องความปลอดภัยในการ เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ส่วนประเด็นว่าจะมีการลดตำราเรียนหรือไม่นั้น ต่อไปเมื่อเรามีห้องเรียนดิจิทัลเพิ่มขึ้นจำนวนมากครอบคลุมได้ทุกโรงเรียนแล้ว อาจจะมีการลดตำราเรียน แต่จะไม่ลดเวลาเรียน ปรับเปลี่ยนไปเรียนผ่านสื่อดิจิทัลแทน จะไปถึงตรงนั้นได้ต้องมีการประเมินผลการดำเนินการห้องเรียนดิจิทัลก่อน ช่วงนี้เป็นแค่ช่วงทดลองเท่านั้น โรงเรียนกทม.เรามี 10,000 กว่าห้องเรียน แต่ตอนนี้เรายังมีห้องเรียนดิจิทัล 1-2 ห้องเท่านั้น กำลังเพิ่มจำนวนตามแผนนโยบายผู้บริหาร ไม่น่าจะมีการลดตำราเรียนได้เร็วใน 2-3 ปีนี้
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 25 ส.ค. 2566