เตรียมควักกระเป๋าประมูลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ 26 พฤศจิกายน สำหรับทรัพย์หลุดจำนำของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร หรือ “โรงรับจำนำ กทม.” ซึ่งนำทองคำ นาก เงิน เพชร พลอยรูปพรรณ อัญมณี พระเลี่ยม และเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโดยวิธีการประมูลด้วยวาจา
กล่าวกันว่า ประเภทข้าวของ ปริมาณ และความถี่ของการนำสิ่งของเดินเข้าประตูโรงจำนำ สะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
สำหรับการจัดประมูลทรัพย์หลุดจำนำของโรงรับจำนำ กทม. จัดขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ไม่ตรงกับช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งทางสถานธนานุบาลฯก็พยายามให้ทรัพย์ถูกประมูลหมดทุกครั้ง เพราะต้องนำเงินทุนส่วนหนึ่งไปรับจำนำต่อ เพื่อให้ประชาชนมีเงินนำไปใช้จ่าย เปรียบเป็น “ทุนหมุนเวียน” ไม่เช่นนั้นจะเกิดทุนจม การเก็บทรัพย์สินไว้จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งแต่ละครั้งประชาชนให้ความสนใจร่วมศึกประมูลอย่างคึกคักจนหมดเกลี้ยง ไม่มีเหลือ
เปิดขั้นตอนประมูล ส่องหีบสมบัติละลานตา
ย้อนบรรยากาศการประมูลที่ผ่านมา ณ ห้องประมูลทรัพย์หลุดจำนำ สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ชั้น 3 อาคารโกลด์ มาร์เก็ต เขตจตุจักร ซึ่งขนทรัพย์หลุดจำนำมาจากสาขาตลาดพลู บางกอกใหญ่ จอมทอง ทุ่งครุ บางบอน ราษฎร์บูรณะ และเทเวศร์มาให้เลือกประมูลละลานตา
ภายในห้องประมูล มีผู้ร่วมราวประมาณ 30 คน แต่ละโต๊ะจะแบ่งทรัพย์ที่ประมูล เป็นโต๊ะประมูลทองคำ และโต๊ะประมูลเพชร อัญมณี และทรัพย์เบ็ดเตล็ด โดยแต่ละรอบจะเป็นทรัพย์ที่มาจากแต่ละสถานธนานุบาล กทม. ซึ่งก่อนประมูลเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ประมูลมีการตรวจทรัพย์สิน ผู้ประมูลแต่ละคนพกเครื่องชั่งน้ำหนักดิจิทัลขนาดเล็ก แว่นขยายส่อง เครื่องคิดเลข กระดาษปากกา
เรียกได้ว่าอุปกรณ์พร้อม! ครั้นเมื่อเริ่มปฏิบัติการ ผู้ประมูลส่วนใหญ่จะยกป้ายประมูลครั้งละ 10 บาท ไปเรื่อยๆ หรือถ้ามีคนยกป้ายประมูลแช่ จะมีผู้ประมูลแข่งยกราคาครั้งละ 100 บาท แทน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ขานราคาไปเรื่อยๆ ทรัพย์ที่ประมูลได้ส่วนใหญ่เป็นทองรูปพรรณ เช่น สร้อย แหวน พระเครื่องเลี่ยมทอง เมื่อประมูลทรัพย์แต่ละชิ้นเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ประมูลชำระเงินทันที ไม่ให้มีค้างคา
อย่างไรก็ตาม ถ้าทรัพย์นั้นไม่มีผู้ประมูลในรอบแรก จะมีการลดราคาแล้วประมูลในรอบถัดไป แล้วจะลดราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ยกประมูลขึ้นมา
สำหรับไอเท็มที่ไม่ค่อยเตะตาผู้ประมูล คือ “เพชร” ที่ค่อนข้างเงียบกริบชวนให้น้อยใจ
‘ทองอยู่ที่ไหนก็เป็นทอง’ ไอเท็มฮิต เศรษฐกิจแย่ทำ ‘เพชร’ หงอย
วราภรณ์ จันทร์เพ็ญ รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับผู้เข้าประมูลส่วนใหญ่เป็นผู้เข้าประมูลรายเดิมที่เคยมาประมูลแล้ว ซึ่งมีการประกอบหลากหลายอาชีพ ส่วนผู้ประมูลรายใหม่จะมีเข้ามาบ้างหมุนเวียนกันไป หลักเกณฑ์การประมูลรอบแรก บางครั้งผู้ประมูลไม่สู้ราคา เพราะราคาอาจจะตั้งสูงไป ก็จะมีการลดราคาให้ แล้วถ้าไม่มีคนสู้อีก ทางสถานธนานุบาลฯจะเก็บไว้ประมูลในครั้งถัดไป
“เราไม่สามารถลดจนขาดทุนได้ เหมือนกับต้นทุน ถ้าต้นทุนมา 3 บาท เราจะลดต่ำกว่า 3 บาท เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น”
เมื่อถามว่า ทางสถานธนานุบาลฯมีการสะสมทองไว้เพื่อขายตอนที่ราคาทองขึ้นสูงไว้หรือไม่?
รอง ผอ.โรงรับจำนำ กทม.ยืนยันว่า ไม่มีการสะสมทองไว้ เพราะราคาทองคำมีความผันผวนสูงมาก ยิ่งถ้าราคาต่ำลงยิ่งมีผลกระทบมากกว่า
“เมื่อทรัพย์หลุดเป็นสิทธิ เราดำเนินการจำหน่ายเลยโดยไม่มีการกักตุนไว้ ลองไปดูสถิติราคาทองคำย้อนหลัง มันน่ากลัว เพราะเราตอบไม่ได้ว่า ถ้าเราเก็บ พรุ่งนี้ราคาขึ้น ถ้าวันนี้เก็บแล้ววันนี้ลง เราก็เสียโอกาส”
วราภรณ์เปิดเผยอีกว่า การประมูลทองรูปพรรณดีกว่าการซื้อตามร้าน เนื่องจากทางสถานธนานุบาลฯไม่ได้บวกค่ากำเหน็จ ราคาประมูลเป็นราคาเนื้อทองล้วน ฉะนั้น คนประมูลได้ประโยชน์แน่นอน ซึ่งถ้าทองรูปพรรณเป็นเส้นใหม่ก็สามารถขายต่อได้โดยบวกค่ากำเหน็จไปด้วย
“ตอนนี้ทองคำบาทละ 29,650 บาท เขาก็ไปขาย 30,000 บาท แต่เขาประมูลจากเราไป 28,000 บาท เพราะเราจะถอยราคาให้ด้วย คือได้ประโยชน์ทั้งประชาชนทั่วไป หรือทางพ่อค้าเอง เพราะการประมูลไม่มีค่ากำเหน็จ” น.ส.วราภรณ์กล่าว
สำหรับประเด็นที่ว่าทำไมผู้ประมูลถึงไม่นิยมประมูลเครื่องประดับเพชรและอัญมณี เหมือนกับทองคำ?
คำตอบคือ เนื่องจากผู้ประมูลไม่มีตลาดปล่อยขายต่อ ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้ประชาชนไม่ค่อยซื้อเครื่องประดับใส่ ส่งผลให้เพชรและอัญมณีเกิดล้นตลาด แต่ด้วยหลักการบริหารความเสี่ยง ทำให้สถานธนานุบาลฯจะรับจำนำเครื่องประดับเพชรและอัญมณีน้อยลง หรือให้ราคาจำนำต่ำกว่าราคาซื้อขายในท้องตลาด ทั้งนี้ เครื่องประดับเพชรและอัญมณี ถ้าขายจะได้ราคาดีกว่าการมาจำนำ ไม่เหมือนกับทองคำที่รับจำนำตามราคาซื้อขาย เพราะทองคำมีมูลค่าของตัวมันเอง
“ทองอยู่ที่ไหนก็เป็นทอง ทองก็คือทองวันยันค่ำ เพราะฉะนั้นทองเป็นสินค้าที่ไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนได้ดีมาก” วราภรณ์กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า สถานธนานุบาลฯได้รับความนิยมมาตลอด เนื่องจากเป็นโรงรับจำนำ กทม. ยิ่งในช่วงนี้
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยจำนำเหลือเพียง 0.10% ต่อเดือน ในวงเงินไม่เกิน 5,000 บาท จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งปกติจะคิดดอกเบี้ย 0.25% ต่อเดือน ทำให้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
คุยกับ ‘เซียน’ ผ่านศึก 20 ปี เจาะวิธีส่อง ‘ตาต้องดี’ สแกนยิบเปอร์เซ็นต์-ยี่ห้อ
ว่าแล้ว ขอคุยกับหนึ่งในผู้ประมูลตัวจริงอย่าง “ไพฑูรย์” หนุ่มใหญ่วัยกลางคนที่ขอสงวนนามสกุล ซึ่งเผยว่าประกอบอาชีพค้าขายของหลุดจำนำ โดยร่วมประมูลมาแล้วถึง 20 ปี ในการประมูลแต่ละครั้งใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท สำหรับครั้งนี้ได้ประมูลทองรูปพรรณ เพชร พระเลี่ยมทอง โดยต้องประมูลในราคาตามที่กำหนดมาล่วงหน้า เพราะทรัพย์บางตัวตั้งราคาสูงเกินไป
ไพฑูรย์เล่าว่า การขายของหลุดจำนำก็พอได้กำไรบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนที่ขาย ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้าด้วย บางครั้งก็ขายขาดทุน เพราะหลายครั้งก็ประมูลสู้กับคนที่อยากได้จริงๆ บางทีสู้ราคาประมูลเกินกว่าที่ตั้งไว้แต่แรก จึงเป็นเหตุของการขาดทุน
เมื่อถามว่าการประมูลในรอบแรก เซตทองรูปพรรณ ที่มีน้ำหนักรวมประมาณ 5 บาท ไม่มีคนยกป้ายประมูลสู้ ส่วนตัวมองว่าเพราะอะไร?
ผู้ผ่านสมรภูมิประมูลกว่า 2 ทศวรรษ ตอบว่า บางครั้งสถานธนานุบาล กทม.ตั้งราคาประมูลแพงเกินไป ซึ่งการกำหนดราคาในตอนแรก ไม่ใช่ว่าจะซื้อได้ทุกชิ้น ต้องมีสายตาในการดู เพราะต้องดูยี่ห้อทอง บางทีก็มีทองคำเปอร์เซ็นต์ต่ำ
จากนั้นชวนให้สังเกตสร้อยและแหวนทองรูปพรรณผ่านแว่นขยาย โดยแนะนำให้ส่องดูเลขเปอร์เซ็นต์ทอง และยี่ห้อของทองรูปพรรณ กล่าวคือ สร้อยทองรูปพรรณสลักเลข 96.5 หมายถึงมีทองผสม 96.5% และสลักยี่ห้อทองเป็นอักษรจีน “น่ำซงหลี” ส่วนแหวนทองมีการสลักยี่ห้อทองระบุในวงแหวนด้วย
“ทองคำต้องดูทุกเส้น ถ้าไม่มียี่ห้อ ต้องตีราคาให้ต่ำ เปอร์เซ็นต์ทองอาจจะไม่ถึง 96.5” ไพฑูรย์ผู้ประมูลทองรูปพรรณมา 1 กองเบาๆ ร่วม 2 แสนบาท ชี้แนะ
“การประมูลทองรูปพรรณมาสามารถขายต่อได้ง่าย ซึ่งการขายแต่ละทีจะต้องดูราคาทองรายวันด้วย ถ้าทองราคาตกก็จะไม่ขาย รอทองราคาขึ้นจึงจะปล่อยขาย ซึ่งเป็นที่มาของการได้กำไรจากการค้า”
นับเป็นอีกสมรภูมิการค้าขายแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจใต้ร่มเงา “กรุงเทพมหานคร”
โรงรับจำนำ กทม.จำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำ 26 พ.ย.65
ชนาธิป ล.วีระพรรค ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ กทม.) จะดำเนินการนำทรัพย์หลุดจำนำของสถานธนานุบาล ประเภท ทองคำ นาก เงิน เพชร พลอยรูปพรรณ อัญมณี พระเลี่ยม และเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโดยวิธีการประมูลด้วยวาจา ในวันที่ 26 พ.ย.65 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ห้องประมูลทรัพย์หลุดจำนำ ชั้น 3 อาคารโกลด์ มาร์เก็ต เลขที่ 8 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลทรัพย์หลุดจำนำดังกล่าว โดยสามารถชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ ชำระเป็นเงินสด โอนเงินผ่าน QR CODE ชำระเงินผ่านบัตรเดบิต โดยไม่มีค่าธรรมเนียม หรือชำระเงินผ่านบัตรเครดิต มีค่าธรรมเนียม 1%
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมประมูลทรัพย์หลุดจำนำต้องลงทะเบียนเข้าร่วมประมูลผ่านลิงก์ http://auction.newmediax.net/form_register หรือทางเว็บไซต์ www.pawshop.bangkok.go.th (ระบบเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.) พร้อมแสดงหลักฐานได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 2 เข็ม และหลักฐานแสดงผลการตรวจยืนยัน ว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) โดยเขียน ชื่อ-สกุล และวันที่ตรวจลงบนชุดตรวจซึ่งเป็นผลการตรวจของวันที่ลงทะเบียน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพ มหานคร โทร 0-2158-0042-4 หรือโรงรับจำนำ กทม.ทั้ง 21 แห่ง ในเวลา 08.00-16.00 น. หรือดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.pawnshop.bangkok.go.th และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/pawnshopbangkok
บรรยายใต้ภาพ
วราภรณ์ จันทร์เพ็ญ รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สถานธนานุบาล กรุงเทพมหานคร
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 พ.ย. 2565 (กรอบบ่าย)