(20 ส.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิดโครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (เขตสัมพันธวงศ์) “ตะลักเกี้ย เกี่ยถิกท้อ เดินเที่ยวตลาดน้อย” ณ บริเวณท่าน้ำภาณุรังสี เขตสัมพันธวงศ์
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า นโยบายเส้นเลือดฝอยเป็นนโยบายที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้ความสำคัญมาก มีหลายโครงการที่พยายามจะลงไปยังชุมชน สำหรับโครงการย่านสร้างสรรค์ฯ เป็นโครงการจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ลงงบประมาณห้าแสนบาทไปที่ 20 สำนักงานเขต ที่มีอัตลักษณ์ของย่านต่าง ๆ ซึ่งย่านตลาดน้อยในเขตสัมพันธวงศ์เป็น 1 ใน 20 ย่านที่ทางเขตเลือกขึ้นมา เพราะเวลามีนักท่องเที่ยวมาเยาวราชก็จะมาที่ตลาดน้อยอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวได้พัฒนาย่านของเราไปด้วย ซึ่งคิดว่ามี 3 มิติ ที่เราน่าจะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
มิติที่หนึ่ง คือ การดึงจิตวิญญาณหรือดึงอัตลักษณ์ของย่านขึ้นมา จะเห็นว่าน้อง ๆ นักเรียนที่มาแสดงวันนี้ก็มาแสดงจิตวิญญาณของย่าน มีความเป็นจีนซึ่งไปที่ไหนก็ไม่เหมือนที่นี่ มี work shop มีบรรยากาศต่าง ๆ ที่เป็นจิตวิญญาณของที่นี่ ซึ่งเป็นเป็นสิ่งสำคัญในคำถามว่าเราจะดึงจิตวิญญาณของสถานที่ขึ้นมาอย่างไร
มิติที่สอง คือ คน หรือ กลไกในย่าน ซึ่งทางสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องย่าน โดยคณะกรรมการไม่ใช่เฉพาะคนในชุมชนหรือเขต แต่เชิญผู้ใหญ่ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมด้วย กลไกตรงนี้จะทำให้เราทำงานอย่างไม่โดดเดี่ยว
มิติที่สาม สุดท้ายทั้งมิติที่หนึ่งและสองจะเกิดไม่ได้ถ้ากายภาพไม่ถูกปรับปรุง เช่น ไม่มีที่จอดรถ การเดินทางไม่สะดวก หลายครั้งเราเอางบประมาณลงไปปรับปรุงกายภาพก่อนโดยที่ในพื้นที่ยังไม่มีอัตลักษณ์ แล้วเราก็ต้องมาสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ต้องมาจัดกิจกรรมใหม่ แต่อย่างพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์อยู่แล้วทำไมเราถึงไม่เอางบประมาณมาปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ เพื่อทำให้เกิดการท่องเที่ยวเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เพราะฉะนั้น สามมิตินี้เป็นสิ่งที่เราพยายามจัดสรรให้ถูกที่ถูกทางและตรงกับความต้องการของของชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปีแรกที่จัดโครงการนี้ ในปีหน้าเราตั้งงบประมาณไว้ 30 ย่าน ถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน กทม.และหลายภาคส่วน ขอฝากทุกท่านว่าเรามาช่วยกันทำให้ต่อเนื่อง ขับเคลื่อนกลไกย่านสร้างสรรค์นี้ไปด้วยกันกับกรุงเทพมหานคร” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับงาน “ตะลักเกี้ย เกี่ยถิกท้อ เดินเที่ยวตลาดน้อย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2566 เวลา 8.00 – 16.00 น. ณ บริเวณท่าน้ำภาณุรังษี เขตสัมพันธวงศ์ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่รุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจทิศทางในการพัฒนาส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ให้เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ โดดเด่น สร้างการจดจำ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างภาคีเครือข่าย โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมชุมชนในพื้นที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาคม และผู้ประกอบการในย่าน
สำหรับย่านตลาดน้อย คือชุมจีนที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของสำเพ็ง โดยที่บรรดาชาวจีนต่างพากันเรียกตลาดแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสำเพ็งซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในขณะนั้นว่า “ตะลักเกี้ย” ซึ่งแปลว่า “ตลาดน้อย” โดยกิจกรรมภายในงาน “ตะลักเกี้ย เกี่ยถิกท้อ เดินเที่ยวตลาดน้อย” อาทิ work shop การทำโคมไฟจีน กระดาษคำมงคลและอักษรมงคลบนถุงผ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่บพิตรพิมุข จักวรรดิ การทำสมุดทำมือ จากวิทยาลัยสารพัดช่างเอี่ยมละออ สาขาสี่พระยา พร้อมทั้งการระบายสีหน้ากากจีน และการทำหมอนจิ๋วจากผู้แทนในชุมชนตลาดน้อย กิจกรรมการแสดงชุด 3 ประสานผ่านวัฒนธรรมไทย – จีน จาก 3 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และการแสดงจินตลีลาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ฯ การแสดงวงดนตรีและละครใบ้ของผู้พิการ การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กิจกรรม Half Day Trip แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในย่านตลาดน้อย
ในวันนี้มี นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ผู้บริหารกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่บพิตรพิมุข จักวรรดิ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ เขตสัมพันธวงศ์ เครือข่ายการท่องเที่ยวย่านตลาดน้อย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม
#เศรษฐกิจดี #สังคมดี
———-