กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรับมือปัญหาฝุ่น PM2.5
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.เตรียมความพร้อมรับมือปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ร่วมกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงานและสถานประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด จัดหานวัตกรรม หรืออุปกรณ์สำหรับฟอกอากาศในพื้นที่ปิด เพื่อติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสม ระดับที่ 2 ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. พิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายออกคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงกรณีสถานประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งให้คำแนะนำและกำกับดูแลฌาปนสถานปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ควบคุมการเผาในที่โล่ง รณรงค์ลดการจุดธูป เผากระดาษ หรือวัสดุในพิธีกรรม แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองด้วย Web Application 4health พัฒนารูปแบบห้องปลอดฝุ่นและประสานหน่วยงานพิจารณาเปิดห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หรือสถานที่อื่น ๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง จัดทีมปฏิบัติการและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกหน่วยบริการสาธารณสุข แจกหน้ากากอนามัย
ส่วนระดับที่ 3 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. ดูแลป้องกันผลกระทบ ในโรงเรียน สนับสนุนหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเสี่ยง และระดับที่ 4 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ร่วมกับสำนักงานเขตสนับสนุนการลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone ขอให้สถานประกอบการหลอมโลหะ หรือกิจการที่ใช้หม้อต้มไอน้ำด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ชีวมวล และถ่านหินในพื้นที่วางแผนลดการผลิต 100% เพื่อลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง รวมถึงพิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 3 วัน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญให้ผู้อำนวยการเขต ซึ่ง สนอ.ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและแนวทางการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อให้สำนักงานเขตเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายในการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ตลอดจนบูรณาการข้อมูลทั้งด้านสถานการณ์ฝุ่นละอองและข้อมูลด้านสุขภาพร่วมกันระหว่าง สนอ. สำนักการแพทย์ และสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงวิกฤต รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยหากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่นละออง PM2.5 เกิน 50 มคก./ลบ.ม. (3) สั่งการให้ รพ.สังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่ รพ.ตากสิน รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.สิรินธร เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะเดียวกันได้จัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง
นอกจากนั้น ยังร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองและเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา ครู นักเรียนในการรับมือกับฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ตลอดจนร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายนักวิจัย จัดเสวนาวิชาการรับฟังความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพฯ รวมถึงข้อเสนอแนะอื่น ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ได้ผลลัพธ์เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
กทม.จัดมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังโควิด 19 ส่งเสริมกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังพบผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นว่า สนพ.ได้เร่งประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางให้ประชาชนตระหนักถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันได้เปิดให้บริการ Walk-in ฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ทุกสัญชาติ) ทุกวันไม่เว้นวันหยุด สามารถดูรายละเอียดการให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ ทั้ง 11 โรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.ได้ที่ https://shorturl.asia/Qs5EL รวมทั้งจัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ลงพื้นที่ให้บริการเชิงรุก ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงสามารถนัดหมายฉีดวัคซีนถึงบ้านได้ สำหรับกลุ่ม 608 ที่มารับบริการใน รพ.ให้ตรวจ คัดกรองประวัติ หากควรได้รับวัคซีนแนะนำให้ฉีดวัคซีนในคราวเดียวกัน
นอกจากนั้น ยังเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ใน รพ.และผู้รับบริการ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายใน รพ.ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด 19 ทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด รวมถึงสังเกตอาการตนเองหลังจากมีความเสี่ยง ตรวจคัดกรองด้วย ATK หากมีผลบวกจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของนักท่องเที่ยว สวท.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ ผู้ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว และชุมชนท้องถิ่นแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก รวมถึงสถานที่จัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมากให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย
กทม.เสริมสร้างวินัยจราจรลดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ พร้อมตรวจสอบซ่อมแซมผิวจราจร – ทางเท้า
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาการผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บคิดเป็นร้อยละ 75 ของการสูญเสียจากอุบัติเหตุทั้งหมดว่า กรุงเทพมหานครมีแนวทางขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรถจักรยานยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปภ.) จัดทำโครงการเสริมสร้างวินัยจราจร เพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กรสวมหมวกนิรภัย 100% นำร่องในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มอบหมวกนิรภัยให้นักเรียนสังกัด กทม.จำนวน 126,117 ใบ เพื่อจัดกิจกรรมสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ให้นักเรียนสังกัด กทม.ลดการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) ได้จัดกิจกรรม “การมีส่วนร่วมสู่ถนนปลอดภัย” ในนิคมอุตสาหกรรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และเคหะชุมชนในพื้นที่เขตประเวศ ปทุมวัน ทุ่งครุ หลักสี่ บางพลัด และเขตคลองเตย ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กทม.เตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์โดยเฉพาะ
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย.ดำเนินมาตรการตรวจสอบและบำรุงรักษาถนนที่อยู่ในความดูแลให้พร้อมใช้งานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เส้นทาง เพื่อลดอุบัติเหตุ โดยลงพื้นที่ตรวจสอบผิวจราจรและทางเท้าเป็นประจำตามวงรอบทุก 15 วัน หากตรวจพบผิวจราจร หรือทางเท้าชำรุด จะเร่งดำเนินการจัดซ่อมทันที เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนโดยเร่งด่วน ส่วนกรณีผิวจราจรที่มีโครงการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภค สนย.ได้ประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ได้ขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ของ กทม.ให้ดำเนินการตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ.2550 และมาตรการควบคุมความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามเงื่อนไขการอนุญาตตลอดระยะเวลาที่โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่ง สนย.ได้ตรวจสอบพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมดเป็นประจำทุกเดือน หากตรวจพบปัญหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน อาทิ ผิวจราจรเป็นหลุมบ่อ ทางเท้าชำรุด หรือได้รับความเสียหาย จะแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคที่รับผิดชอบโครงการฯ เร่งดำเนินการแก้ไข หากเกิดผลกระทบ หรือปัญหายังไม่ได้ข้อยุติ จะระงับการก่อสร้างชั่วคราวจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย จึงจะอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป