(16 ส.ค.66) เวลา 13.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมการรำลึกสันติภาพขององค์กร Mayors for Peace ร่วมกับผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู และนิทรรศการสันติภาพในกรุงเทพมหานคร 2023 (The Hibakusha: Hope for Peace and Exhibition in Bangkok 2023) ในโอกาสครบรอบ 78 ปี เหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2488 ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2566 โดยมี นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานการต่างประเทศ สำนักงานเขตปทุมวัน ผู้แทนเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้แทนรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดฟูกูโอกะ และเมืองโยโกยามา ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ ผู้แทนจากกองสันติภาพ ความมั่นคง และการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นเมืองสมาชิก เมืองผู้บริหาร (Executive City) และเมืองผู้นำ (Lead City) ขององค์การ Mayors for Peace ได้เข้าร่วมกิจกรรมขององค์การฯ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเข้าร่วมพิธีรำลึกสันติภาพ ณ เมืองฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคมของทุกปี และการส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนในงาน International Youth Conference for Peace in the Future หรือ IYCPF ที่เปิดเวทีให้เยาวชนนานาชาติได้หารือเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพโลกในมุมมองของแต่ละประเทศ รวมถึงแสดงให้โลกรู้ถึงความเจ็บปวดและโศกนาฏกรรมจากระเบิดปรมาณู และยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ทุกชนิดในโลก สำหรับกิจกรรมสำคัญในงานนี้คือ กรุงเทพมหานครได้เชิญผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูในประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “ฮิบาคุฉะ” (hibakusha) ซึ่งปัจจุบันฮิบาคุฉะมีจำนวนเหลือน้อยลง มาเล่าคำให้การ (ประสบการณ์) ของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการสันติภาพด้วยภาพถ่ายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่จากเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของประชาชนก่อนเกิดเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณู ช่วงระหว่างเกิดเหตุการณ์ฯ ภาพความสูญเสียหลังการทิ้งระเบิดปรมาณู และภาพหลังการฟื้นฟูเมืองแล้ว รวมถึงนิทรรศการภาพวาดที่ถ่ายทอดโดยผู้รอดชีวิตที่เห็นเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณู แสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมและความสูญเสียที่เกิดจากพลังของระเบิดปรมาณู คร่าชีวิตพลเรือนชาวเมืองฮิโรชิมา 140,000 คน และชาวเมืองนางาซากิ 73,000 คน ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้รอดชีวิตที่เจ็บป่วยจากการรับสารกัมมันตรังสีอีกนับ 10,000 คน รวมถึงเด็กหญิงชาดาโกะ ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย จนนำไปสู่ความมุ่งมั่นในการพับนกกระเรียนกระดาษให้ครบ 1,000 ตัว เพื่อขอพรให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ต่อไป
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอขอบคุณ คุณเทรุโกะ ยาฮาตะ ฮิบาคุฉะ จากเมืองฮิโรชิมา ที่ให้เกียรติมาเล่าประสบการณ์ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของโลกให้พวกเราฟัง อย่างที่ทราบกันดีว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ เมื่อปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) เป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้น ที่ถูกนำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมหาศาลที่มีมากกว่า 210,000 คน และบ้านเรือนถูกทำลายเสียหายเกินจินตนาการ ในขณะที่ประชาชนผู้รอดชีวิตที่ไม่เสียชีวิตทันทีต่างก็ได้รับผลกระทบทางกายภาพและจิตใจเป็นเวลายาวนาน ในเวลาต่อมาองค์การ Mayors for Peace ได้ถูกก่อตั้งขึ้น จากการริเริ่มของเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้เมืองทั่วโลกก้าวข้ามขอบเขตระดับประเทศ เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการสนับสนุนการล้มเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ปัจจุบันมีเมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ Mayors for Peace จำนวน 8,271 เมือง จาก 166 ประเทศทั่วโลก เพื่อทำหน้าที่เป็นแรงสนับสนุนแก่ผู้ที่ดำเนินการเพื่อแสวงหาสันติภาพและความปลอดภัยแก่มนุษยชาติ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครในฐานะเมืองผู้บริหารและเมืองผู้นำขององค์การ Mayors for Peace ร่วมกับองค์การ Mayors for Peace จัดกิจกรรมการรำลึกสันติภาพร่วมกับผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู และนิทรรศการสันติภาพในกรุงเทพมหานคร 2023 เพื่อให้พวกเราทุกคนตระหนักถึงความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ที่มีต่อมวลมนุษยชาติ ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ของสงครามจากคำให้การของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู หรือที่ เรียกว่า “ฮิบาคูฉะ” ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาดของฮิบาคูฉะ การพับนกกะเรียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง และการเขียนข้อความรำลึกสันติภาพ เพื่อแสดงความปรารถนาที่จะให้มนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สันติภาพมีความสำคัญยิ่งต่อพวกเราทุกคน แต่ละคนอาจจะมีนิยามความหมายหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับสันติภาพที่แตกต่างกันออกไป สันติภาพอาจไมใช่แค่เพียงสภาวะที่ปราศจากสงคราม แต่อาจหมายรวมถึงการสร้างสันติภาพในจิตใจของผู้คนด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียม ตลอดจนการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์บนพื้นฐานของความเป็นพลเมืองโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างสังคมที่มีความสงบสุขและครอบคลุมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กิจกรรมในวันนี้จะเป็นการส่งสารที่สำคัญไปยังพวกเราทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้ลิขิตอนาคต ให้เกิดความรู้สึกหวงแหนสันติภาพและต้องการที่ จะสร้างความปลอดภัยขั้นพื้นฐานระหว่างเพื่อนมนุษย์ ดังข้อความเริ่มต้นในธรรมนูญขององค์การยูเนสโก (UNESCO Constitution) เมื่อปี พ.ศ.2488 ที่ว่า “สงครามเริ่มที่จิตใจของมนุษย์ฉันใด ความหวงแหนสันติภาพย่อมต้องสร้างที่จิตใจมนุษย์ฉันนั้น”
“หวังว่าผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ จะได้รับพลังในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงทั้งปวง การสร้างค่านิยมในการเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่มีความเป็นธรรมและยุติธรรมยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน เพื่อวันนี้และเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป การมีส่วนร่วมของทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมในการสร้างโลกที่สงบสุขอย่างแท้จริง” ปลัดฯ ขจิต กล่าวในตอนท้าย
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)