กทม.ร่วม กฟน.ตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้า ป้องกันอันตรายช่วงหน้าฝน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.เร่งตัดแต่งต้นไม้สูงริมถนนไม่ให้ระสายไฟ ป้องกันอันตรายช่วงฤดูฝนว่า สสล.ได้ประสานสำนักงานเขต 50 เขต จัดทำแผนการตัดแต่งต้นไม้แนวสายไฟฟ้าประจำปี พร้อมรายงานผลทุกเดือน ซึ่งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้ตัดแต่งต้นไม้ตามแผนฯ และนอกแผนหากตรวจพบต้นไม้ที่มีความเสี่ยง โดยตัดแต่งตามหลักรุกขกรรมและหลักความปลอดภัยของการจ่ายกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันได้แจ้งเตือนและกำชับให้สำนักงานเขตตรวจประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้บนทางเท้าและเกาะกลางถนน โดยเฉพาะบริเวณที่มีสายไฟฟ้าและเสาไฟฟ้า หากพบความเสี่ยงจากกิ่งแห้ง กิ่งผุ ลำต้นเอนเอียง หรือมีร่องรอยการทำลายของโรคแมลงศัตรูพืชให้เร่งตัดแต่ง หรือค้ำยัน ขณะเดียวกัน สสล.และสำนักงานเขตได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เขตพื้นที่ เพื่อบูรณาการร่วมกันตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้า เช่น การร่วมปฏิบัติงานตัดกระแสไฟฟ้าขณะที่เจ้าหน้าที่ตัดแต่งต้นไม้แนวสายไฟฟ้า โดยกรณี กฟน.พบเหตุเร่งด่วนที่มีผลต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชน เช่น ต้นไม้ล้ม ไฟฟ้าช็อต หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด จะให้ผู้รับจ้างตัดแต่งโดยประสานสำนักงานเขตพื้นที่นั้น ๆ ร่วมปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันอันตรายและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และเครื่องมือประจำหน่วยเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง พร้อมออกปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนทันที หากมีเหตุฝนตกหนักทำให้ต้นไม้โค่นล้ม สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน รวมถึงได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมชุดปฏิบัติการเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมกับ สสล.แก้ไขปัญหาต้นไม้ล้ม กิ่งไม้หักกีดขวางถนน พร้อมเปิดเส้นทางสัญจรให้ประชาชนได้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้ กิ่งไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะโค่นล้ม หรือระสายไฟฟ้าสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ โดยหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้านสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม.กำหนด
กทม.เตรียมพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญว่ากรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้ประสานความร่วมมือกรมชลประทานติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงร่วมประชุมหารือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและด้านการเกษตร รวมถึงเฝ้าระวังการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังตรวจวัดคุณภาพน้ำ (ความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 9 จุด ดังนี้ (1) ท่าน้ำนนทบุรี (2) สะพานพระราม 7 (3) สะพานปิ่นเกล้า (4) สะพานพุทธยอดฟ้า (5) สะพานกรุงเทพ (6) สะพานพระราม 9 (7) วัดบางกระเจ้านอก (8) วัดบางนานอก และ (9) พระประแดง พร้อมทั้งตรวจวัดค่าความเค็มสูงสุดของแต่ละวันเป็นประจำทุกวัน จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำคลองแจงร้อน สถานีสูบน้ำคลองดาวคะนอง สถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่ สถานีสูบน้ำเทเวศร์ และสถานีสูบน้ำคลองบางเขนใหม่ และคลองต่าง ๆ รวมถึงแผนการควบคุมเปิด – ปิดประตูระบายน้ำ ตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานไหลเข้ามาในคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สนน.ได้ประสานและติดตามการบริหารจัดการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้มาตามคลอง 13 ผ่านคลองแสนแสบ เข้าคลองลำปลาทิวผ่านมายังคลองประเวศบุรีรมย์พื้นที่เขตหนองจอก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม โดยการดำเนินการของ กทม.ในระยะเร่งด่วนได้ขุดลอกคลองสายรอง เพื่อผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ส่วนแผนในระยะยาว กทม.ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำ โดยทดน้ำ หรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทำการเกษตรและมักจะประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย คลองสิงโต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนั้น กทม.ยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดที่มีคุณภาพ หรือน้ำรียูส นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยหน่วยงาน หรือประชาชนที่สะดวกสามารถขอรับน้ำได้ที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ
เขตวัฒนาตรวจสอบร้านอาหารย่านเอกมัย เปิดให้บริการในเวลาที่กำหนด พร้อมแก้ปัญหาเรื่องเสียงรบกวน
นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีประชาชนร้องเรียนร้านอาหารย่านเอกมัยเปิดเกินเวลาที่กำหนดและส่งเสียงดังรบกวนว่า สำนักงานเขตวัฒนาได้ประสานข้อมูลจากสถานีตำรวจนครบาล (สน.) คลองตัน ทราบว่า ร้านอาหารดังกล่าวตั้งอยู่อาคารเลขที่ 15 ซอยเจริญใจ (เอกมัย 12) แขวงคลองตันเหนือ จากการตรวจสอบร้านดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานเขตฯ เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารและกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการแสดงดนตรี ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขที่กำหนดให้เปิดบริการต้องไม่เกินเวลา 24.00 น. หากร้านฝ่าฝืน สำนักงานเขตฯ จะพักการใช้ใบอนุญาตและขั้นตอนต่อไปอาจเพิกถอนใบอนุญาต กรณีมีประชาชนร้องเรียนเรื่องเสียงดังรบกวน สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ประกอบกิจการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนทุกครั้ง หากไม่สามารถแก้ไขได้จะส่งดำเนินคดีในอัตรากำหนดโทษสูงสุด ส่วนกรณีร้านเปิดเกินเวลาที่กำหนด สำนักงานเขตฯ ได้แจ้ง สน.คลองตัน พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดตรวจกำกับสถานประกอบกิจการในพื้นที่ ตามขั้นตอนและขอบเขตอำนาจหน้าที่ รวมทั้งตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด