กทม.หารือบริษัทรับ-ส่งอาหารและสินค้า วางแนวทางแก้ไขปัญหา Rider ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาพนักงานรับ-ส่งอาหาร และสินค้า (Rider) ขับขี่รถจักรยานยนต์ บนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกทม. นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สำนักเทศกิจ ผู้บริหารและผู้แทนบริษัทรับ-ส่งอาหารและสินค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
พล.ต.อ.อดิศร์กล่าวว่า กทม.ได้ทยอยติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดหลักๆ ไปแล้ว 11 กล้อง ในพื้นที่ 10 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยเพชรบุรี 9 2.สุขุมวิท 26 3.พัฒนาการ 44 4.ปากซอยลาดพร้าว 25 5.ประเสริฐมนูกิจ บึงพระราม (2 กล้อง) 6.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 7.หน้าโรงเรียน นิเวศน์วารินทร์ 8.ปั๊มน้ำมันปตท. เทพรักษ์ 9.เพชรเกษม 28 และ 10.หน้าซอย เสือใหญ่ โดยหลังจากการติดตั้งกล้อง CCTV และมีระบบ AI ตรวจจับป้ายทะเบียนมา 2 เดือนกว่าเราก็ได้ตัวเลขของการทำผิดกฎจราจรโดยการฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องตัวเลขในมิติที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น วินจักรยานยนต์รับจ้างซอยเสือใหญ่อุทิศ ที่เคยมีวันละ 200-300 ครั้ง บางคันก็กระทำผิดซ้ำ แต่ปัจจุบันตัวเลขลดลง มาเรื่อยๆ จนถึงหลักหน่วย หรือบางวัน ไม่มีเลย ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว หากเรา มีวิธีการสื่อสารกันกับผู้ฝ่าฝืน ทำความ เข้าใจกันเพื่อให้เขารู้ ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว จะทำให้ความ รับผิดชอบในสังคมได้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผล ให้ความปลอดภัยเกิดขึ้นได้ เรื่องร้องเรียน จากประชาชนในเรื่องความปลอดภัย ในการใช้ทางเท้าก็จะไม่มี
การที่เราเชิญบริษัทรับ-ส่งอาหาร และสินค้า หรือ Rider จำนวน 12 บริษัท มาพูดคุย เนื่องจากว่ายังมีตัวเลขที่ยัง นิ่งอยู่ในเรื่องของการกระทำความผิด ที่ยัง แช่อยู่ในปริมาณเดิมและยังไม่ลดน้อยลง ทางวินจักรยานยนต์รับจ้างเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ทาง Rider นี้ ยังไม่มีใครพูดคุย วันนี้จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องของบริษัท รองผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายที่ดูแล บุคลากร มาหารือทำความเข้าใจกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เบื้องต้น ได้คุยกันในมาตรการที่ให้ทางบริษัทกลับไปหารือกับผู้บริหารของบริษัท ถึง ตัวเลขที่มีการฝ่าฝืนว่ามีจำนวนเท่าไร จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้เรายังได้รับฟังมาตรการของ ทางบริษัทที่มีการควบคุมพนักงานอยู่แล้ว หากได้รับรายงานว่ามีพนักงานกระทำ ผิดกฎหมายจราจร จะมีการตักเตือน ระงับ สัญญาณ 3 วัน 7 วัน หรือตัดสัญญาณ ออกไปเลย แต่ว่าเราก็ได้รับข้อมูลบางอย่าง ที่เราไม่รู้จากการประกอบธุรกิจ การเชื่อมโยงระหว่างบริษัทกับพนักงาน ซึ่งมีทั้งพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว ฟรีแลนซ์ พนักงานบางคนอาจทำงานได้หลายบริษัท และไม่รู้ด้วยว่าขณะนั้น กำลังทำงานให้ใครอยู่ อาจจะสวมเสื้อบริษัทหนึ่ง สะพายกล่องอีกบริษัทหนึ่ง แต่ไปรับส่งของกับอีกบริษัทหนึ่ง ก็ถือ ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
“โดยสรุปแล้ว มติในที่ประชุม วันนี้คือ 1.จะพยายามทำให้ตัวเลขในการ กระทำความผิดลดลง แบบเดียวกับที่วิน จักรยานยนต์รับจ้างได้ทำไปแล้ว 2.แชร์ข้อมูลที่เรามีเท่าที่เราจะให้ได้ โดยไม่ไป ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำ ความผิด ให้ทางบริษัทไปตรวจสอบก่อน เพราะว่าเราเห็นเสื้อกับกล่องท้ายรถ เมื่อ ตรวจสอบแล้วเป็นพนักงานของบริษัท บริษัทก็สามารถดำเนินการตามมาตรการ ทางกฎหมายของบริษัทนั้นๆ ต่อไป หลังจากนั้น เราจะมาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยน ข้อมูลกันอีกที” พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าว
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 14 ส.ค. 2566