ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (4 ส.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยมี หัวหน้าหน่วยงานเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแต่ละรายการ
ในที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯได้ตั้งข้อสังเกตและให้คำแนะนำให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ ข้อสังเกตสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่รับสาย 1555 ในส่วนที่เป็นผู้พิการ ขอให้ดูแลสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม ไม่ให้ผู้พิการนั่งนานเกินไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้พิการ ข้อสังเกตสำนักงานกฎหมายและคดี เกี่ยวกับคดีใหญ่ๆ เช่น คดีรถดับเพลิงที่ผ่านมา ควรจ้างบริษัทภายนอกที่มีความชำนาญในการทำคดี เพื่อลดความเสียหายของกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งที่ทำให้แพ้คดีอาจขึ้นอยู่กับโอนย้ายของบุคลากรที่เกี่ยวข้องบ่อยครั้ง ทำให้เสียเวลาในการศึกษารูปคดีใหม่และไม่เกิดความต่อเนื่อง จึงควรพิจารณาเพิ่มสวัสดิการเพื่อจูงใจให้ข้าราชการไม่โอนย้าย
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการสู้คดีกรุงเทพมหานครสามารถเลือกใช้วิธีการได้หลายรูปแบบ อาทิ การจ้างที่ปรึกษา การจ้างแบบ outsource การจ้างทนายเป็นรายคดี ซึ่งขึ้นอยู่กับหน่วยงานจะพิจารณาว่าควรใช้รูปแบบใดถึงจะเหมาะสมกับคดีนั้น ๆ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของสำนักงานปกครองและทะเบียนซึ่งพบปัญหาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิไม่ได้รับความสะดวก อากาศไม่ถ่ายเท ไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้กรุงเทพมหานครนำสถานที่ราชการของกรุงเทพมหานครซึ่งมีอยู่หลายแห่งมาเป็นหน่วยเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน
“ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานคร สิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรให้ประชาชนได้ทราบว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภากรุงเทพมหานครมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนร่วมกัน รวมถึงหน้าที่ในการพิจารณางบประมาณ ตั้งกระทู้ ตั้งญัตติ แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจว่าส.ก.ได้ทำอะไรบ้าง ทั้งที่สภากทม.เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และถือเป็นสภาของพี่น้องประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ” ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ร่วมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ให้คำแนะนำให้สำนักและสำนักงานเขต ร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ในสื่อออนไลน์ของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมติดตามการประชุม และมีส่วนร่วมในการบริหารกรุงเทพมหานคร
———-