กทม.ให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 กลุ่มเสี่ยง เตรียมพร้อมรองรับหากพบการแพร่ระบาด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เพื่อเตรียมความพร้อมหากพบสัญญาณเตือนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ภายในศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งอย่างต่อเนื่องในวันพุธและศุกร์ ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ขณะเดียวกันได้ให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนถึงบ้านในกลุ่มติดบ้านติดเตียงและในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยได้ประสานความร่วมมือให้อาสาสมัครและพยาบาลเยี่ยมบ้านสำรวจผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนประจำปีแนะนำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการวัคซีนโดยเร็ว
นอกจากนั้น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ยังได้เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงระบบการรับส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง (ประชาชนกลุ่ม 608 และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี) กลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสแพร่เชื้อ (พนักงานบริการ หรือผู้ที่มีอาชีพต้องสัมผัสคนเป็นจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่แออัด) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เพื่อลดอาการป่วยหนัก เสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตามฤดูกาล ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนประชาชนทั่วไปที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสามารถรับวัคซีนประจำปีได้ตามความสมัครใจและสามารถรับวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ หรือฉีดที่แขนคนละข้าง ทั้งนี้ กทม.ยังเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคลที่เป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก อยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 ตลอดจนป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
กทม.เร่งซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างทางวิ่งในสวนเบญจกิตติ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีผู้ใช้บริการสวนเบญจกิตติร้องเรียนบริเวณทางวิ่งรอบสระน้ำไม่เปิดไฟฟ้าส่องสว่าง เกรงจะเป็นอันตรายกับนักวิ่งว่า สสล.ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์และระบบสาธารณูปโภคภายในสวนเบญจกิติอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกหนัก ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วนเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดและดับ อย่างไรก็ตาม สสล.ได้เร่งจัดหาอุปกรณ์มาเปลี่ยนและซ่อมแซมเพิ่มความสว่างบริเวณทางวิ่งภายในสวนโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบกับผู้ใช้บริการสวนเบญจกิตติ
เขตหลักสี่ตรวจสอบการทุบทางเท้าสร้างเป็นทางลาดเข้าบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต
นางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ กทม.กล่าวกรณีในสื่อออนไลน์โพสต์ภาพอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งภายในซอยชินเขต 1 แขวงทุ่งสองห้อง ทุบทางเท้าสร้างเป็นทางลาด เพื่อให้รถยนต์เข้าไปในอาคารได้ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า เจ้าของอาคาร/ผู้ครอบครองอาคารตึกแถว 3 ชั้น ชั้นลอย เลขที่1/132 ซอยงามวงศ์วาน 43 แยก 2 (ซอยชินเขต 1) บริเวณระหว่างซอยงามวงศ์วาน 43 กับ 43 แยก 2-1 แขวงทุ่งสองห้อง ได้ตัดคันหินทางเท้า เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกขนาด 3.20 x 1.80 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตฯ ซึ่งการตัดคันหินทางเท้า เพื่อเป็นทางลาดให้รถยนต์เข้าไปในอาคารไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากการก่อสร้างทำทางลาดและทางเชื่อมทางเท้า ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขต ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการตัดคันหินทางเท้า ลดระดับคันหินทางเท้าและทำทางเชื่อมในที่สาธารณะ พ.ศ.2531 ข้อ 7 การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป